ดราม่าบอลไทย! ทำไมต้องหยุดพักลีกถึง 54 วัน
ฟุตบอลลีกอาชีพของไทย หยุดพักเลก 54 วัน กลายเป็นประเด็นดราม่าทำให้แฟนบอลไทย ออกอาการหัวเสีย และไม่เข้าใจการจัดโปรแกรมฟุตบอลลีกอาชีพ ของ บรัษัท ไทยลีก จำกัด ซักเท่าไหร่
นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มที่คอยปั่นให้ สมาคมฯ โดนโจมตีในประเด็นนี้ ทั้งที่ปฎิทินการแข่งขันไทยลีกประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ก็ค่อนข้างเคลียร์ชัด
เหตุผลของการหยุดพักเลก 54 วัน ต่อเนื่องกันนั้น จริงๆ แล้วถ้ามองดีๆ และพยายามทำความเข้าใจจากปฎิทินการแข่งขัน จะเห็นได้ว่า การหยุดพักลีกยาวครั้งนี้มันมีเหตุและผล ซึ่งไม่ใช่หยุดเพื่อให้ “ทีมชาติไทย” มีเวลาเตรียมทีมไปล่าแชมป์อาเซียนคัพ อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ แต่มันเป็นการหยุดต่อเนื่องเพราะโปรแกรมฟุตบอลรายการอื่นๆ เข้ามาแทรกด้วย
อีกทั้งการหยุดลีกในรูปแบบนี้ ผ่านการพูดคุยกันมาแล้ว ทั้งในการประชุมสโมสรไทยลีก และสภากรรมการ ซึ่งหากมีใครไม่เห็นด้วย ก็คงมีการคัดค้าน หรือโหวตลงมติไม่เอาด้วยกันไปแล้ว
เริ่มจาก วันที่ 11-19 พฤศจิกายน 2567 หลังฟุตบอลไทยลีก จบแมตช์เดย์ที่ 15 จะเป็นช่วงฟีฟ่าเดย์ ซึ่ง ทีมชาติไทย จะมีโปรแกรมลงแข่งขันอุ่นเครื่อง จำนวน 2 นัด
ฟีฟ่า เดย์ นี้ ค่อนข้างสำคัญ เพราะไทยต้องพยายามเก็บแรงกิ้ง ให้ได้มากที่สุด เพื่อเข้าไปอยู่ในระดับ ท็อป 100 หลังจากที่ไม่ได้อยู่อันดับเลข 2 หลักมานานเกือบ 14 ปี
และที่สำคัญ คะแนนแรงกิ้งจะส่งผลต่อการจับสลากในการอยู่โถทีมวางของศึก เอเชียน คัพ 2027 รอบคัดเลือก ที่จะเริ่มแข่งขันในช่วงเดือนมีนาคมด้วย
จากนั้น วันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2567 ทีมชาติไทย จะมีเวลา 3 วัน เพื่อเตรียมทีมเข้าสู่ทัวร์นาเมนท์ อาเซียนคัพ ที่มีโปรแกรมแข่งขัน ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน-21 ธันวาคม 2567
โดย ทีมชาติไทย อยู่กลุ่ม เอ จะลงสนามนัดแรก บุกไปเยือน บรูไน หรือ ติมอร์ เลสเต ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567
นัดที่สอง 29 พฤศจิกายน 2024 เปิดบ้าน พบ มาเลเซีย
นัดที่สาม 2 ธันวาคม 2024 เยือน สิงคโปร์
นัดที่สี่ 6 ธันวาคม 2024 เปิดบ้าน พบ กัมพูชา
เพื่อหา ทีมแชมป์ กับ รองแชมป์กลุ่ม ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ เตะแบบเหย้า-เยือน ต่อไป ซึ่งจะไปจบทัวร์นาเมนต์ในวันที่ 21 ธันวาคม 2567 โดยจะกินเวลานานตลอดการแข่งขัน 29 วัน
สำหรับ รายการนี้ หลายคนเข้าใจว่า สาเหตุที่หยุดยาวเพื่อให้สโมสรปล่อยตัวนักเตะดีๆ ให้ทีมชาติไทย ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดแบบเต็มๆ เนื่องจากไม่ใช่ฟีฟ่าเดย์ สโมสรสามารถที่จะไม่ปล่อยตัวก็ได้
นอกจากนี้ สโมสรตัวแทนของประเทศไทย ก็จะมีโปรแกรมแข่งขันฟุตบอลถ้วยเอเชีย ในช่วงเวลานั้นพอดี ทั้ง ฟุตบอล AFC Champions League Elite และ AFC Champions League Two
โดย บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด (กรณีผ่านเข้ารอบแบ่งกลุ่มได้) ต้องลงแข่งขันโปรแกรมฟุตบอล AFC Champions League Elite แมตช์เดย์ที่ 5 ในวันที่ 26-27 พฤศจิกายน และ แมตช์เดย์ที่ 6 ในวันที่ 3-4 ธันวาคม 2567
ส่วน การท่าเรือ เอฟซี ก็จะมีโปรแกรมฟุตบอล AFC Champions League Two ต้องลงแข่งขัน แมตช์เดย์ที่ 5 ในวันที่ 27-28 พฤศจิกายน และ แมตช์เดย์ที่ 6 ในวันที่ 4-5 ธันวาคม 2567 เช่นกัน
นอกจากนั้น ช่วงตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2567 ไปจนถึง 3 มกราคม 2568 จะมีฟุตบอล รีโว่ คัพ รอบ 32 ทีมสุดท้าย แข่งขันในวันที่ 25 ธันวาคม 2567 และ วันที่ 29 ธันวาคม ก็จะมีแมตช์ ไทยลีก นัดตกค้างลงแข่งขัน ซึ่งเลื่อนมาจากแมตช์เดย์ที่ 8 วันที่ 24-26 กันยายน 2567 เพราะ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด กับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ต้องลงแข่งขันฟุตบอล ASEAN Club Championship (Shopee Cup)
แน่นอน ใครที่มองว่าการหยุดยาว 54 วัน เป็นการเอื้อให้ ทีมชาติไทย ไปเอาแชมป์ฟุตบอลรายการระดับอาเซียน อาจจะต้องทำความเข้าใจใหม่ เพราะ ทีมชาติไทย จะไม่ได้ตัวนักกีฬาที่ดีที่สุดจากสโมสรใหญ่ๆ ที่ก็มีโปรแกรมแข่งขันฟุตบอลถ้วยระดับเอเชียเช่นกัน ส่วนโปรแกรมไทยลีก 2 ก็ยังมีการแข่งขันปกติในทุกสัปดาห์
ที่มา: soccersuck