เชลซี จ่ายเงินเป็นบ้า แต่ไม่ผิดกฎ FFP ได้ไง(วะ)?
สถิติค่าตัวเกาะอังกฤษ จากการทุ่มซื้อ เอนโซ แฟร์นานเดซ จะทำให้ “สิงห์บลูส์” ใช้เงินเกิน 500 ล้านปอนด์ในฤดูกาลนี้
เชลซี ได้เตรียมตัวเตรียมใจถลุงเงินเป็นว่าเล่นภายใต้ยุคใหม่ของ ท็อดด์ โบห์ลี่ และเคลียร์เลค แคปิตอล ซึ่งหลังการคว้าตัวแฟร์นานเดซจากเบนฟิก้า นั่นหมายความว่าพวกเขาใช้เงินเสริมทัพไปแล้วเกิน 500 ล้านปอนด์
การใช้เงินเสริมทัพที่สแตมฟอร์ด บริดจ์ของพวกเขา ได้ไปถึงระดับการทำสถิติตั้งแต่ซัมเมอร์ที่ผ่านมา แต่หลายคนสงสัยว่า เชลซี ยังสามารถใช้เงินแบบมือเติบได้อย่างไร ภายใต้กฎแฟร์เพลย์ทางด้านการเงิน (หลังจากนี้จะขอใช้คำย่อว่า FFP)
ภายใต้กฎ FFP ของพรีเมียร์ ลีก สโมสรสามารถมียอดขาดทุนได้ไม่เกิน 105 ล้านปอนด์ภายในระยะเวลา 3 ปี
สำหรับกฎของยูฟ่านั้นแตกต่างออกไป พวกเขายอมให้มีการขาดทุนไม่เกิน 53 ล้านปอนด์ในเวลา 3 ปี นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอ กฎหมวกค่าเหนื่อยแบบอ่อน (soft wage cap) เพื่อจำกัดการทุ่มเงินด้านค่าเหนื่อย บวกกับค่าเอเยนต์ และค่าใช้จ่ายรวมของการเสริมทัพ โดยในระยะแรกจะเป็น 90% ของรายได้ในฤดูกาล 2023/24 ซึ่งตัวเลขจะถูกปรับลดลงมาเป็น 80% และ 70% ในอีกสองซีซั่นถัดจากนั้น
ข้อมูลทางการเงินล่าสุดของเชลซี แสดงให้เห็นว่าพวกเขาขาดทุนเป็นเงิน 387 ล้านปอนด์ในเวลา 3 ปี แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดต่อรายได้ ทำให้มีการหย่อนกฎดังกล่าว นอกจากนี้ “เดอะ บลูส์” ยังทำกำไรจากการขายนักเตะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาด้วย
นอกจากนี้เรื่อง ค่าตัดจำหน่าย (Amortisation) ซึ่งเป็นกระบวนการของการกระจายค่าใช้จ่ายด้านการเสริมทัพด้วยสัญญาระยะยาวก็ช่วยพวกเขาด้วยเช่นกัน นั่นหมายความว่าดีลการคว้า มีคายโล มูดรีค ในราคา 88.5 ล้านปอนด์ จะถูกลงมูลค่าไว้ที่ปีละ 11 ล้านปอนด์ในช่วงเวลา 8 ปีครึ่งถัดจากนี้
เวสลี่ย์ โฟฟาน่า ย้ายเข้าร่วมทีมด้วยสัญญา 7 ปี, เบอนัวต์ บาเดียชิลล์ ได้รับสัญญา 6 ปีครึ่ง ขณะที่โนนี่ มาดูเอเก้ เซ็นสัญญายาว 7 ปีครึ่ง
เชลซี อยู่ในลิสต์การถูกเฝ้าจับตามองของยูฟ่าในเรื่องงบการเงินของพวกเขา แต่แม้ว่าการทุ่มเงินเสริมทัพจะถูกพูดถึงอย่างหนัก ทางทีมดังลอนดอนมั่นใจว่าพวกเขาสามารถปฏิบัติตามกฎ FFP แม้ว่าจะพลาดไปเล่นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในฤดูกาลหน้า
“พวกเขาใช้ค่าตัดจำหน่ายของสัญญาด้วยดีลในระยะที่ยาวมาก มันมากกว่ามาตรฐานสัญญา 5 ปีที่มอบกัน” เจ๊ค โคเฮน นักกฎหมายทางด้านกีฬาของ Mackrell Solicitors เผย
“การตัดจำหน่ายถือเป็นแนวปฏิบัติมาตรฐานทางบัญชีในวงการกีฬา ซึ่งจะทำให้เงินของการซื้อตัวกระจายไปตามระยะเวลาสัญญาของนักเตะ ค่าตัว 50 ล้านปอนด์บวกกับสัญญา 5 ปี จะไม่ถูกลงเป็นจำนวนเต็ม แต่เป็นค่าใช้จ่ายปีละ 10 ล้านปอนด์”
เจ้าของใหม่ทีมเชลซี เข้าใจความจำเป็นในการต้องผ่าตัดทีมใหม่ และการทุ่มเงินของพวกเขาทำให้หลาย ๆ สโมสรทั่วยุโรปดูตัวกะเปี๊ยกลงไปเลย
สิ่งดังกล่าวนำมาซึ่งคำร้องเรียนจากคณะกรรมการยุโรป และยูฟ่าจะทำการปรับกฎ FFP โดยให้สามารถกระจ่ายค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อตัวนักเตะออกไปได้ไม่เกิน 5 ปีเท่านั้น
สโมสรจะยังสามารถมอบสัญญาระยะยาวภายใต้กฎของ UK แต่พวกเขาจะไม่สามารถกระจายเงินค่าใช้จ่ายในการซื้อตัวออกไปเกิน 5 ปี การเปลี่ยนแปลงนี้จะถูกบังคับใช้ในช่วงฤดูร้อน และจะไม่มีผลในการบังคับใช้ย้อนหลัง
คีแรน แม็คไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินของกีฬาฟุตบอล และผู้ประพันธ์หนังสือ Price is Football กล่าวว่า
“สิ่งดังกล่าวสร้างความหงุดหงิดให้กับลา ลีก้า และฆาเบียร์ เตบาส ผู้อำนวยการของพวกเขา ก็โกรธมาก ๆ กับเรื่องนี้ ผมคิดว่าสิ่งดังกล่าวเป็นการสนับสนุนมุมมองที่ว่า พรีเมียร์ ลีก คือซูเปอร์ ลีก
“การลงมือทำสิ่งนี้ก่อนที่กฎจะเปลี่ยนไปก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เข้าใจได้ สิ่งที่พวกเขาทำมันไม่ผิดหรอก แต่แค่ว่าพวกเขาทำในระดับขั้นสุดเอ็กซ์ตรีมแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในฟุตบอล นอกจากตอนที่โรมัน อับราโมวิช เข้ามาซื้อทีม
“มันอาจจะได้ผล หรือคุณอาจจะติดแหง่กอยู่กับนักเตะที่ได้รับค่าจ้างแพงระยับและไม่ต้องการย้ายทีม
“เชลซี ใช้จ่ายเงินเหมือนคนเมาในบ่อนคาสิโน เรื่องนี้อาจจะเวิร์คก็ได้ เพราะว่าความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนมันก็สูงละ”
*บทความนี้แปลจากคอลัมน์ของ Nizaar Kinsella ใน The Standard
ที่มา: soccersuck