จากแคมป์อพยพสู่เวิลด์ คัพ : เอแวร์ มาบิล
คุณคงต้องพยายามมากสักหน่อยที่จะหานักฟุตบอลทีมชาติสักคนที่บอกว่าพวกเขาไม่ได้ภาคภูมิใจให้กับการลงสนามรับใช้ประเทศของตัวเอง
อย่างไรก็ดี สำหรับ อาแวร์ มาบิล แล้ว เขาไม่เพียงแค่บอก แต่จะพูดซ้ำพูดซากแบบไม่มีเบื่อ
ส่วนใหญ่แล้ว ทีมชาติที่คุณเล่นให้มักเป็นประเทศที่เกิด, ประเทศสักแห่งที่คุณอาจเจอความยากลำบาก หรืออาจมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนัก แต่สำหรับมาบิลนั้น ออสเตรเลีย ให้บางสิ่งบางอย่างมากกว่าแค่คำว่า “ความรักชาติ”
“ไม่มีอะไรที่ทำให้ผมภาคภูมิใจไปกว่าการเล่นให้ออสเตรเลียแล้ว” มาบิล กล่าว
“เพราะพวกเขามอบโอกาสให้กับผมและครอบครัว โอกาสแห่งชีวิต ในการเริ่มต้นใหม่ สำหรับผมแล้วมันคือสิ่งที่ไม่เคยคาดคิด และครอบครัวของผมก็รู้สึกขอบคุณไปตลอดกาล”
“สำหรับผมแล้ว (การลงเล่น และการเอาชนะ) คือหนทางเดียวที่จะขอบคุณออสเตรเลีย เพราะผมคงไม่สามารถพูดได้มากพอว่าประเทศนี้มีความหมายต่อผมขนาดไหน นี่คือประเทศของผมในตอนนี้” มาบิล ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปเล่นฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์
มาบิล ไม่ได้เกิดในอเดเลด สถานที่ที่ตอนนี้เขาเรียกมันว่าบ้าน เขาเกิดห่างไปกว่า 11,000 ไมล์ ในแคมป์ผู้อพยพที่คาคูม่า ทางตอนเหนือของเคนย่า โดยมีพ่อแม่เป็นคนซูดานใต้
เขาใช้ชีวิตในช่วง 10 ปีแรกของตัวเองภายในแคมป์แห่งนี้ อาศัยอยู่ภายในกระท่อมเล็กๆ 1 ห้องแออัดร่วมกับกับแม่, พี่ชาย และน้องสาว
ครอบครัวของปีกวัย 27 ปี มีชีวิตอยู่ด้วยอาหารจากสหประชาชาติ แต่มันก็ไม่เคยพอที่จะทำให้พวกเขาอิ่มท้อง เพราะมีจำกัดเพียงแค่วันละมื้อ แต่ว่ามันก็พอสำหรับให้ไอ้หนูมาบิล ออกไปไล่เตะลูกหนังที่รักพร้อมกับเพื่อนคนอื่นๆ ซึ่งไม่ว่าจะหาอะไรได้ในแถวนั้น พวกเด็กๆ ก็จะเอามาไล่หวดอยู่เสมอ
“ไม่ต้องมีการจัดการอะไร” ดาวเตะของกาดิซ กล่าว “ผมแค่เล่นมันกับเพื่อนๆ ลูกพี่ลูกน้อง เตะบอลพลาสติก บอลที่ทำจากกระดาษ หรือบางทีก็ทำจากเสื้อผ้า”
“มันคือความทรงจำที่ดีที่สุด เพราะคุณก็แค่เล่นไปตามอิสระ มันคือที่ที่คุณได้แสดงตัวตนออกมา”
“เมื่อคุณกลายเป็นนักฟุตบอลอาชีพ มันก็จริงจังมากกว่า เพราะมันกลายเป็นงาน บางครั้งหากคุณไม่เตือนตัวเองว่าทำไมคุณถึงเริ่มเล่นฟุตบอล หรือทำไมคุณถึงเริ่มทำในสิ่งที่ตัวเองเคยทำในช่วงที่ผ่านมา บางทีมันก็ง่ายที่จะลืมความสนุกสนานนั้นไป”
ตอนที่ มาบิล อายุราว 7-8 ขวบ ครอบครัวของเขาก็เริ่มพยายามสมัครเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่ซับซ้อนและยาวนาน พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากลุง ที่ย้ายมาออสเตรเลีย ไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น
เขาช่วยครอบครัวที่เหลืออยู่ผ่านกระบวนการทางราชการ พร้อมจ่ายเงินเป็นค่าบัตรโดยสารเครื่องบินให้เดินทางมาจากเคนย่า ตอนที่ มาบิล อายุ 10 ขวบ เขาก็เดินทางมาถึงแดนจิงโจ้ พอดี
นี่คือการเริ่มต้นใหม่ของพวกเขา จุดเริ่มต้นของชีวิตภายนอกแคมป์ผู้อพยพ ซึ่งนั่นคือทุกอย่างมามาบิล รู้จัก
“ในช่วง 1-2 ปีแรก ผมพูดภาษาไม่ได้เลย ผมไม่ได้เข้าร่วมสโมสรฟุตบอลจนอายุประมาณ 13 ขวบได้ ผมคิดว่างั้นนะ”
“คุณลุงของผมช่วยให้ผมไปอยู่กับสโมสรแรก เขาพูดภาษาอังกฤษ และผมกตัญญูต่อเขามากจริงๆ เพราะเขาอุทิศตัวอย่างหนัก (เพื่อพาพวกเรามาออสเตรเลีย)”
ความรักของมาบิล ที่มีต่อออสเตรเลีย อาจเปลี่ยนไปอีกทาง เพราะความสัมพันธ์ของประเทศต่อผู้อพยพ การเหยียดเชื้อชาติ หรืออย่างน้อยก็ประวัติศาสตร์มันอาจ “ซับซ้อน” และมาบิล ก็ต้องทนทุกข์ต่อการที่ผู้คนตัดสินตัวตนของเขาไปก่อนตอนที่เดินทางมาถึงใหม่ๆ ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ บีบีซี เมื่อไม่กี่ปีก่อนนั้น เขาเคยบอกว่า มีเพื่อนบ้านเข้ามาทำร้ายตอนที่เขาเดินเข้าบ้าน พร้อมไล่ให้กลับไปอยู่ที่เคนย่า
แต่มาบิล บอกว่าเขาไม่ได้มองว่า ออสเตรเลีย เป็นประเทศเหยียดเชื้อชาติ เพราะนี่คือประเทศที่ให้โอกาสแก่เขาต่างหาก
“ผมทราบดีว่าผมมาจากไหน เด็กๆ แทบจะไม่มีโอกาสเลย ผมรู้ว่าตอนที่ผมย้ายมาออสเตรเลีย ผมคือตัวแทนของเด็กๆ เหล่านั้น ผมคิดเสมอนะว่า “โอเค ยังมีเด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสเหมือนผม ผมจะทำให้แน่ใจว่าตัวเองทำงานหนักและเป็นตัวแทนของพวกเขาทุกคนให้ได้”
ตอนนี้ เขากำลังอยู่ในฟุตบอลโลก ในฐานะตัวแทนทีมชาติออสเตรเลีย ซึ่งไม่มีดาวดังในอดีตอย่าง แฮร์รี่ คีลล์, มาร์ค วิดูก้า, มาร์ค ชวาร์เซอร์ และทิม เคฮิลล์
อย่างไรก็ดี แมตต์ ไรอัน, อาร่อน มอย และเจสัน คัมมิ่งส์ ซึ่งแปลงสัญชาติมาจากสกอตแลนด์ ล้วนเคยฝากผลงานเอาไว้ในเกาะอังกฤษ รวมถึงแข้งใหม่ของนิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด วัย 18 ปี อย่าง การาง คูโอล ก็อยู่ที่กาตาร์ เช่นเดียวกัน
มาบิล ได้ลงสนามในนาทีที่ 73 ของเกมพบฝรั่งเศส เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งเป็นการสิ้นสุดเส้นทางของเขาจากแคมป์ผู้อพยพ สู่ เวิลด์ คัพ อย่างแท้จริง
“สำหรับผมแล้ว ฟุตบอลสนุกเสมอ และมันจะยังคงสนุกแบบนั้นต่อไป เพราะมันคือหนทางเดียวสำหรับผมที่จะเซฟชีวิตของตัวเอง”
“เพราะเมื่อผมเล่นฟุตบอล (ในแคมป์ผู้อพยพ) มันทำให้ผมลืมเรื่องราวต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ มันทำให้พวกเรามีความสุข มันทำให้ผมมีความสุข”
“ผมไม่ได้คิดเรื่องสภาวะที่ตัวเองหรือครอบครัวกำลังมีชีวิตอยู่ ผมแค่สนุกไปกับตัวเองในทุกๆครั้งที่ลงเล่น ผมพยายามที่จะย้ำเตือนตัวเองเสมอว่าทำไมถึงเล่นฟุตบอล ผมเล่นเพื่อความสนุก และมันก็ทำให้คนอื่นสนุกด้วย สำหรับผมแล้วนี่คือกุญแจสำคัญ”
มาบิล เป็นสมาชิกของทีมเยาวชนหลายแห่งในอเดเลด ท้ายที่สุดเขาก็ร่วมทีม อเดเลด ยูไนเต็ด สโมสรระดับ เอ-ลีก ในท้องถิ่น หลังจากนั้น เขาก็ถูก เอฟซี มิดทิลลันด์ จากเดนมาร์ก ดึงตัวไปในฐานะนักเตะดาวรุ่ง ซึ่งมี แม็ทธิว เบนแฮม หนึ่งในผู้บุกเบิกการใช้ข้อมูลเรื่องแมวมอง เป็นเจ้าของทีม
ตัวเลขของมาบิล มีอะไรบางอย่าง ดังนั้นสัปดาห์ต่อมา พวกเขาก็ติดต่อไปยังเอเยนต์ของมาบิล เมื่อปี 2015 ก่อนที่ขึ้นเครื่องไป “ผมยัดของใส่กระเป๋าเดินทาง 2 อัน แล้วก็เดินทางไปอีกซีกหนึ่งของโลกเพื่อไล่ตามความฝันของตัวเอง ผมกลายเป็นชายหนุ่มที่นั่น”
เขากลายเป็นนักเตะที่เก่งขึ้นด้วยเช่นกัน “เมื่อผมมาถึงยุโรป ตอนที่มาเดนมาร์ก ผมเก่งอยู่อย่างหนึ่ง ผมชอบเลี้ยง แบบดวลตัวต่อตัว ผมเก่งมากๆในเรื่องนี้ แต่ผมจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องการเล่นเกมรับ ผมจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเป็นผลผลิตสุดท้าย”
เขาได้ประเดิมสนามในทีมชุดใหญ่ของออสเตรเลีย เมื่อปี 2018 โดยเป็น แกรม อาร์โนลด์ ที่พยายามสร้างทีมชาติชุดใหม่ขึ้นมาหลังดาวดังหลายรายรีไทร์ไป มาบิล สถาปนาตัวเองกับ “ซ้อคเกอรูส์” ในศึกเอเชี่ยน คัพ 2019 ที่เขายิงไป 2 ลูก ก่อนทีมตกรอบก่อนรองชนะเลิศ
แต่คล้อยหลังความพ่ายแพ้ดังกล่าวไม่กี่ชั่วโมง เขาก็ได้รับข่าวร้ายว่า บอร์ น้องสาววัย 19 ปี ที่เดินทางจากแคมป์ผู้อพยพมาอเดเลด พร้อมครอบครัว เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
“ผมมีความสุขกับช่วงเวลาของตัวเองในชีวิต ได้ลงเล่นให้กับประเทศของผม ยิงประตูเพื่อประเทศในทัวร์นาเมนต์ต่าง แล้วทันใดนั้น เรื่องนี้ก็เกิดขึ้น เพื่อนสนิทที่ผมคุยด้วยทุกวัน ก็จากไปแบบนั้น”
“เธอคือหนึ่งในคนที่คอยดึงผมให้ติดดินตอนที่ผมกำลังขึ้นหิ้งกับฟุตบอล กำลังขึ้นหิ้งกับอะไรบางอย่าง เธอมักเตือนให้ผมตระหนักในคุณค่าของตัวเอง และเมื่อไม่มีใครที่ทำแบบนั้นได้แล้ว ผมก็ต้องหาทางอื่น”
เมื่อมีชีวิตที่ดีขึ้น มาบิล ก็พยายามตอบแทนสังคมด้วยการตั้งมูลนิธิ ที่เรียกว่า “Barefoot To Boots (เท้าเปล่า สู่ รองเท้า) โดยเป็นการนำรองเท้า, ชุดฟุตบอล และอุปกรณ์ทางการแพทย์กลับไปที่ คาคูม่า ตอนเดินทางกลับไปเคนย่า ซึ่งเขาก็พยายามทำให้บ่อยครั้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขาอยากตั้งศูนย์เยาวชนขึ้นมาที่นั่น “ความฝันคือการทำให้ผู้คนได้รู้ หรือทำให้ผู้คนได้ตระหนัก “เฮ้ ที่คาคุม่า มันยังมีบางอย่าง ไปที่นั่นกันเถอะ”
สำหรับตอนนี้ นี่คือฟุตบอลโลก แต่ตอนซัมเมอร์ เขาย้ายไปกาดิซ ในลา ลีกา แม้ว่าจะเจอช่วงออกสตาร์ตที่ลำบากในเมืองกระทิง (ทีมอยู่ในโซนตกชั้น และมาบิล เข้าๆออกๆ ทีม) แต่เขาก็เคยผ่านช่วงเวลาเลวร้ายของชีวิตมามากกว่านี้แล้ว
“ผมรู้สึกดีนะ ผมรู้สึกมีแรงกระตุ้นมาก ผมทำงานหนักมากๆ เพื่อพยายามทำตัวให้พร้อมสำหรับสิ่งนี้ เพราะคุณไม่ได้มีโอกาสไปเล่นฟุตบอลโลกในทุกๆวัน”
“นี่คือสิ่งที่ผมพยายามทำงานเพื่อให้ได้มา ก็เหมือนทุกครั้งที่ผมจะเป็นตัวแทนทีมชาติด้วยความภาคภูมิใจ ทำทุกอย่างเพื่อให้เราชนะ นั่นคือสิ่งเดียวที่เราพยายามทำให้ได้ คือการเอาชนะ” มาบิล กล่าวส่งท้าย
ที่มา: soccersuck