ทีมชาติไทย U20 กับโปรเจคต์ ‘บลูล็อค’ ควรไปต่อหรือพอแค่นี้?
ศึกฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์อาเซียน ทั้งสองรุ่นคือ U16 และ U19 ที่อินโดนีเซีย จบลงไปเป็นที่เรียบร้อย ผลปรากฏว่า ทีมชาติไทย จบด้วยการเป็นรองแชมป์ทั้งสองรุ่น
ฝั่งของ ทีมชาติไทย U17 (ชื่อตามโครงการ FA Talent Id) จบด้วยการเป็นรองแชมป์ด้วยการพ่ายจุดโทษต่อ ออสเตรเลีย ในรอบชิงชนะเลิศ ท่ามกลางกำลังใจมากมายที่มีต่อเจ้าหนูชุดนี้ โดยเฉพาะแนวทางการเล่นที่น่าประทับใจและเอ็นเตอร์เทนแฟนบอล ถึงแม้จะเป็นรองเรื่องสรีระ แต่สู้กับทีมไซส์ยุโรปได้แบบสนุก ทั้งที่หากเทียบขุมกำลัง และระยะเวลาเก็บตัวที่แตกต่างกันพอสมควร
ขณะที่ ทีมชาติไทย U20 ในโปรเจคต์ “บลูล็อค” ของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จบด้วยการเป็นรองแชมป์เช่นกัน หลังจากพ่ายต่อ อินโดนีเซีย เจ้าภาพในรอบชิงชนะเลิศด้วยสกอร์ 0-1 พร้อมโดนวิจารณ์อย่างหนักถึงแนวทางการเล่นที่ดูไม่ค่อยถูกใจแฟนบอลสักเท่าไหร่
โดยเฉพาะการถูกโยงไปถึง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่สมาคมฯมอบสิทธิ์ให้ดูแล
หากมองย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นในการมอบสิทธิ์ หรือ MOU การทำ ทีมชาติไทย U20 ให้กับทาง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด นั้นเกิดขึ้นจากการที่สมาคมฯ ในยุคก่อนประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก จนส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน
รวมถึงปัญหาที่เกิดกับ ทีมชาติไทย U19 และ U23 ในช่วงก่อนหน้านี้ ที่มักมีปัญหาเรื่องการไม่ปล่อยตัวผู้เล่นในการออกไปแข่งขันรายการต่างๆ คือ ไม่ใช่ทีมที่ดีที่สุด
นั่นก็เพราะ เด็กในวัย 19 หรือ 23 ปี ส่วนใหญ่เล่นในไทยลีกแล้ว เมื่อมีการแข่งขันรายการ ชิงแชมป์อาเซียน หรือ ชิงแชมป์เอเชีย ในหลายๆ ครั้ง ไม่สามารถเรียกตัวนักเตะจากสโมสรเพื่อมารับใช้ชาติได้ ซึ่งมักจะติดปัญหา และตามกฏ สโมสรสามารถปฏิเสธการปล่อยตัวนักเตะได้ เนื่องจากการแข่งขันไม่ได้อยู่ในช่วง ฟีฟ่า เดย์
ด้วยปัญหาดังกล่าว การให้สิทธิ์การทำทีมชาติไทย ชุดเยาวชน จึงถูกส่งต่อให้สโมสรที่มีกำลังทรัพย์ หรือ มีความพร้อมเอาไปดูแล ซึ่งเป็นหนึ่งในโมลเดลการทดลองของสมาคมฯ ในการแก้ไขปัญหาการทางการเงิน และปัญหาที่ไม่สามารถเรียกตัวนักกีฬามาเล่นทีมชาติในรายการต่างๆ ได้ตามเป้าหมาย นั้น
เรื่องนี้ หากจำกันได้ล่าสุด คือ ทีมชาติไทย U23 ชุดความหวังโอลิมปิก ที่เคยอยู่ภายใต้การดูแลของสโมสร บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ก็ไม่ได้นักกีฬาที่ดีที่สุดไปลุยศึกชิงแชมป์เอเชีย จน ช้างศึกU23 ต้องอกหัก ไปไม่ถึงฝัน พลาดตั๋วลุยโอลิมปิกในท้ายที่สุด
การเก็บตัวอยู่กับสโมสร แน่นอนว่าค่ากิน อยู่ หลับ นอน สโมสรจะเป็นผู้ดูแล 100 เปอร์เซนต์ โดยที่สมาคมฯไม่ต้องควักกระเป๋า ซึ่งในจุดนี้พอจะเข้าใจได้ในยุคที่ขาดสภาพคล่อยอย่างหนัก
ส่วนข้อดีอื่นๆ ก็เพื่อให้มีการเก็บตัวระยะยาว และสร้างความต่อเนื่อง ของนักเตะ ซึ่งการมอบสิทธิ์ให้กับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่มองว่าที่ผ่านมามีผลงานในการปลุกปั้นนักเตะระดับท็อปมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลังอาทิ ศุภชัย ใจเด็ด, สุภโชค สารชาติ และ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา เป็นต้น
ตามโรดแมป และสัญญา MOU ระหว่าง สมาคมฯ กับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จะสิ้นสุดลงในช่วงปี 2025 ที่จะเป็นศึกชิงแชมป์เอเชีย รอบสุดท้าย U20 ที่ประเทศจีน และจะไปต่อยอดในรายการฟุตบอลเยาวชนโลก ที่ประเทศชิลี
ในศึกชิงเแชมป์อาเซียน U19 ที่เพิ่งจบไป คืองานแรกของโปรเจคต์ “บลูล็อค” ซึ่งจะบอกว่าล้มเหลวเลยก็จะดูตัดสินใจเร็วไปหน่อย
การได้เห็นช่องโหว่ หรือสิ่งที่ควรจะต้องปรับปรุงแก้ไข และยกระดับทีม ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะเวทีที่จะตอบได้ว่าผ่านหรือไม่ คือศึกชิงแชมป์เอเชีย รอบคัดเลือก ที่ ประเทศไทย ในช่วงปลายเดือนกันยายนนี่
หากผลงานดี ก็ถือว่าโปรเจคต์นี้ “เวิร์ค” ถือว่าเป็นการสร้างทีมรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจในการผลักดันเด็กเยาวชนขึ้นมาต่อยอดสู่ทีมชาติไทยชุดใหญ่
ณ วันนี้ ศึกชิงแชมป์อาเซียน จึงถือเป็นก้าวแรกของบททดสอบในเรื่องของผลการแข่งขัน
ถ้ามองในมุมหนึ่ง ถือว่าทำได้ดีในการเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศได้ แต่ในส่วนของฟอร์มการเล่นถือว่าไม่โดนใจแฟนบอลที่มีความคาดหวังค่อนข้างสูงกับทีมชุดนี้ เพราะมียี่ห้อ “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” นั่นเอง
ที่มา: soccersuck