ปัญหาเก่า A B C โค้ชหรือนักเตะ?

ปัญหาเก่า A B C โค้ชหรือนักเตะ?

ประเด็นน่าสนใจหลัง แมนฯยูฯ เสมอกับ สเปอร์ส ในบ้านตัวเองคือแอนจ์ ปอสเตโคกลู ที่หากินในอังกฤษไม่ถึงปี (7 เดือน) “เมเนจ” ขุมกำลังที่หายไปครึ่งค่อนทีมได้อย่างไรโดยที่ทีมยังเล่นดีไม่มีตก

เปลี่ยนคำถามกลับไปยัง เอริค เทน ฮาก ตัวผู้เล่นสมบูรณ์กว่าและกำลังจะคุมทีมครบ 2 ปีเต็มในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้กลับหาทรงตัวเองไม่เจอและเกือบเอาตัวไม่รอด

แฟน “ผี” ยังวนเวียนอยู่กับการนั่งด่านั่งบ่นเรื่องเบสิก A B C เช่นทำไม มาร์คัส แรชฟอร์ด บ้าเลี้ยงไม่เลิก? ทำไมตัวนั้นตัวนี้ไม่วิ่งไม่จ่าย? กลางรับหายอีกแล้ว?

แค่เทียบการแก้ไขปัญหาแค่พื้นๆที่จับต้องได้ของ 2 กุนซือก็ได้คำตอบในใจ

กลายเป็นว่า “ปีศาจแดง” ควรต้องดีใจใช่ไหมครับที่ไม่แพ้ “คลับไก่” ที่ขาดตัวออกอาวุธหนักไปเยอะมากทั้ง ซน เฮืองมิน, เดยัน คูลูเซฟสกี้, เจมส์ แมดดิสัน, อีฟ บิสซูม่า, จิโอวานี่ โล เซลโซ่, ซาร์ และอีก ฯลฯ มากมายที่กล่าวไม่หมด

การได้ประตูทั้ง 2 ลูกของ ยูไนเต็ด เกมนี้ค่อนข้างแปลกด้วยครับ จะเอาไปต่อยอดในเกมต่อๆไปก็พูดได้ไม่เต็มปาก เหมือนประสานงานแต่เป็นประเภท “ซิตคอม” มีความงงๆซ่อนอยู่

ลูกแรก “ดร.แรช” ยังคงคอนเซปต์เลี้ยงมุดตัดเข้าใน ขนาด ฮอยลุนด์ ยืนอยู่พรี่เขายังมุ่งมั่นลากไปหาซะงั้นจนอดีตหอก อตาลันต้า ต้องกระโดดหลบ

ด้วยบุญบารีของน้องไนซ์ กองหลังสเปอร์สแหย่สกัดจนมาเข้าทาง ฮอยลุุนด์ ไม่เช่นนั้นลูกนี้ก็ไม่มีทางได้ยิง

เช่นเดียวกับเม็ด 2 โอเคมองเผินๆเหมือนชิ่ง 1-2 แต่ ฮอยลุนด์ ตีนลั่นไม่คิดว่า แรชฟอร์ด ที่ร้อยวันพันปีเลี้ยงอย่างเดียวจะฝากบอลมาให้ สังเกตดูว่าขาของน้องฮอยกระตุกโดยอัตโนมัติ

ผมว่าตัวเองหงุดหงิดกับ หลุยส์ ดิอาซ ที่สวมวิญญาณพ่อเลี้ยงแล้วนะแต่เกมต่อๆไปมีความพยายามปรับเปลี่ยนวิธีเล่นให้หลากหลายขึ้น (แต่ก็ยังเลี้ยงอยู่)

แต่กับ แรชฟอร์ด นี่ผมดูละท้อเลย เราก็อยากดูบอลที่มัน “ว้าว” จากนักบอลอาชีพบ้าง

ยกตัวอย่างนาที 65 ที่ อูโดกี้ โดน การ์นาโช่ เข้าแย่งจนลงไปนอนเจ็บแต่ “ผี” เล่นเร็วสวนกลับก่อนที่ บรูโน่ จะวางยาวให้ แรช ทะลุขึ้นมาถึงหน้าเขตโทษ

จังหวะนี้แค่เล่นง่ายๆเปิดไปเสาสองให้ ฮอยลุนด์ ที่อยู่ในเขตโทษด้านไกล (ไม่มีตัวประกบ) ก็ได้ยิงแล้ว เข้าไม่เข้าอีกเรื่องแต่พรี่แกยังพยายามจะเลี้ยงฝ่า 2 แนวรับทีมเยือน โอกาสหมด เสียบอล!!

ผมไม่เข้าใจทัศนคติและ mindset ของ แรชฟอร์ด จริงๆ อายุไม่ใช่น้อยๆ 26 ปีแล้ว ตัวเลขขนาดนี้สไตล์การเล่นวิธีเล่นมันต้องไม่ใช่แบบนี้แล้วนะครับ

สำหรับจุดอื่นๆ ผมมองว่า แมนฯยูฯ โชคดีมากที่เกมนี้เสียประตูจากเตะมุมแค่ลูกเดียวเพราะเห็นกันชัดเจนว่ามีปัญหากับการรับมือหนักมาก ครึ่งแรกนอกจากโดน ริชาร์ลิซอน ตีเสมอในนาที 19 แล้ว โรเมโร่ ยังโขกไปบวกคานช่วงทดเจ็บอีก

ประเด็นคือรู้ว่าลูกเตะมุมพร้อมโดนสุดๆก็ยังขยันเสียให้เขารัวๆถึง 13 หน

ที่น่าเขกกะโหลกที่สุดคือการเสียประตูตีเสมอ 2-2 ทั้งง่ายและไวจัด (แค่ 50 วินาทีในครึ่งหลัง)

ลูกนี้เป็นการประกาศให้โลกรู้ว่ากลางรับตัวตัดเกมคือตำแหน่งที่ “ปีศาจแดง” ต้องการอย่างเร่งด่วน

คุณปล่อยให้ เบนทานคูร์ จ็อกกิ้ง (ก่อนเปลี่ยนสปีดทีหลัง) เข้าเขตโทษคนเดียวสบายๆแบบนั้นได้อย่างไรโดยที่ตัวเองก็ยืนรายล้อมอยู่ตรงนั้นเต็มไปหมด

มิดฟิลด์ทีมชาติอุรุกวัยสูงเกือบ 190 ซม. ไม่ใช่พยาธิคลานตามดินที่คุณจะมองไม่เห็น

คริสเตียน เอริคเซ่น ยืนอยู่ข้างหลังเห็นก่อนใคร โอเคไม่ใช่รับธรรมชาติแถมแก่, บรูโน่ล่ะ? เบนทานกูร์ อยู่ในรัศมีสายตา สามารถปรี่กินพื้นที่เข้ามาได้อีกนิดหน่อย ไม่ทำอะไรแถมยืนประกบลมตัวเปล่า

ช็อตนี้เป็นการเสียประตูที่น่าเกลียดน่าหงุดหงิดผิดวิสัยลีกอาชีพ ขนาดซ้อมยังเข้ากันถึงตัวมากกว่านี้ด้วยซ้ำ การสกรีนแย่มากถึงมากที่สุด

แถมไม่วายแฟนผีมีไปด่า โอนาน่า ด้วยนะว่าทำไม่เซฟ?

โอ้โหหลุดมากดเต็มตีนเตี่ยแสกหน้าแบบนี้มันไม่ด่าพ่อกองหลังก็บุญแค่ไหนแล้ว 5555 พอเห็นทั้งโลกด่าโอนาน่าพวกพรี่ก็ด่าไม่ดูเวล่ำเวลาเลยเนอะ

หลังสกอร์เสมอ 2-2 ผีเร่งจะเอาประตูชัยทีนี้กลางยิ่งโบ๋ เห็นได้ว่า สเปอร์ส ได้บอลตรงกลางแทบไม่มีใครเข้าเบรกเลย ยิ่งแม็คโทฯลงมาคอมโบ้เรียบร้อยทีนี้

ก่อนปิดทีวีผมฟัง ปีเตอร์ ชไมเคิ่ล ตำนานนายทวารของ แมนฯยูฯ ที่อารมณ์เหมือนปลงทีมรักสุดๆ

“ยักษ์เดนส์” บอกถ้าให้เทียบกับ แมนฯซิตี้, ลิเวอร์พูล, อาร์เซนอล หรือควบทั้ง แอสตัน วิลล่า หรือ สเปอร์ส เข้าไปด้วย

แมนฯยูฯ ยัง far far away ห่างชั้นกับทีมเหล่านี้เยอะมาก

สำหรับผมมองว่า ยูไนเต็ด คล้ายๆ “หงส์” ยุค 90 ที่เมื่อถึงจุดพีคสุดกราฟมันจะมีแต่ลงเรื่อยๆ ของเก่าทำไว้ดีจัด (ป๋า)

ดังนั้นการจะกลับมาได้คุณต้องร่วงให้ต่ำสุดและรอเจอโค้ชที่ใช่ คือกว่า ลิเวอร้พูล จะพบรักกับ เยอร์เก้น คล็อปป์ ต้องผ่านโค้ช 7-8 มือกินเวลาร่วม 24 ปี

เรื่องแย่ๆจากเกมนี้เสมอ 2-2 ถ้าให้พูดทั้งวันเยอะแยะไปหมดแต่มองในแง่ดียังพอมองเห็นแสงสว่างจากรูจมูกคือตัวหลักเริ่มทยอยกลับมาบ้างแล้ว

ลิซานโดร มาร์ติเนซ ที่เจ็บไปตั้งแต่กันยายนลงมาแทน อีแวนส์ ในนาที 63 โดยที่ม้านั่งสำรองมีชื่อของ คาเซมิโร่ กลางรับตัวเก๋า

ครับสุดท้ายเราก็ต้องกลับมาที่จุดกำเนิดของบทความนี้ว่า ETH ไม่สามารถ DIY วิธีการเล่นหากมีตัวผู้เล่นเจ็บหรือบารมีไม่พอที่จะเปลี่ยนทัศนะคติผู้เล่นบางคนในทีม

ต้องให้แฟนบอลอดทนรอตัวหลัก “คัมแบ็ค” ถึงค้นพบแท็คติกส์ที่ลงตัวยังงั้นหรือ? (และก็ยังไม่แน่ว่าจะดีขึ้นจริงๆไหม)

ในขณะที่ “บิ๊กแอนจ์” อัดฉีดแนวทางการเล่นให้ลูกทีมตัวเองตั้งแต่ day 1 คือตั้งแต่เก็บตัวปรีซีซั่นเมื่อเดือนกรกฏาคมจนกระทั่งตัวเก่าตัวใหม่หยิบจับอะไรดูอันตรายไปหมด

เชื่อว่าทุกคนเห็นคำตอบที่อยู่ในคำถามกันแล้วนะครับ….

สถิติ สถิติ สถิติ

มาร์คัส แรชฟอร์ด ยิงประตูแรกในโอลด์แทรฟฟอร์ดให้ แมนฯยูฯ ในซีซั่นนี้ (นับรวมทุกรายการ) นี่เป็นการเล่นเกมที่ 14 และยิงหนที่ 32 ในบ้านตลอดฤดูกาล 2023-24

ตอนนี้ สเปอร์ส ยิงประตูทุกเกมตลอด 33 นัดในพรีเมียร์ลีกนับตั้งแต่แพ้ วูลฟ์ 1-0 เมื่อเดือนมีนาคมซีซั่นที่แล้ว ทำให้กลายเป็นสถิติใหม่ที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสรไปเรียบร้อยแล้ว

“ไก่เดือยทอง” ตามหลัง 1-0 ที่โอลด์แทรฟฟอร์ดถึง 25 จาก 32 เกมพรีเมียร์ลีกหลังสุด เป็นทีมที่โดนลูกแรกก่อนยามออกมาเป็นทีมเยือนมากที่สุดเหนือทุกทีม และเมื่อใดก็ตามที่พวกเขาโดนก่อนแพ้ถึง 22 จาก 24 เกมหลังสุด (ชนะ 1 เสมอ 1)

ที่มา: soccersuck

ความคิดเห็น

ความคิดเห็น

จำนวนคนดู:
X ปิด