ลาลีกา กับการก้าวไปอีกขั้น ด้วยโมเดลวิเคราะห์ข้อมูล
#SSxKMD | วงการฟุตบอลในยุคปัจจุบัน ได้นำ “วิทยาศาสตร์” ที่มีความละเอียด และลึกซึ้ง มาช่วยในการกลั่นกรองให้ได้ข้อมูลเชิงลึก และสามารถสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจได้ ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ
การใช้วิทยาศาสตร์ เข้ามาประยุกต์กับข้อมูลที่เกิดขึ้นในสนามฟุตบอล นอกจากจะช่วยสร้างความสำเร็จให้กับทีมฟุตบอลแล้ว ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด และยกระดับลีกฟุตบอลขึ้นไปอีกขั้น
ลาลีกา ลีกฟุตบอลของสเปน ได้วางรากฐานสำหรับโลกยุคใหม่ ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาช่วยเก็บข้อมูล และพัฒนาโมเดลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ทันสมัย เพื่อขับเคลื่อนลูกหนังแดนกระทิงดุสู่อนาคต
LaLiga Tech ก้าวแรกสู่การยกระดับลีกสเปน
การวิเคราะห์ข้อมูล กำลังกลายเป็นรากฐานสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมกีฬาฟุตบอลตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งลีกชั้นนำอย่างลาลีกา ก็ได้นำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุง และพัฒนาวงการลูกหนังสเปน
นับตั้งแต่ฆาเบียร์ เตบาส เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานลาลีกา เมื่อปี 2013 ได้มียุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยี เพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์
โดยเริ่มต้นจากการเพิ่มแผนก “ลาลีกา เทค” (LaLiga Tech) มีทีมงานเริ่มแรกเพียง 8 คน และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งแยกตัวออกไปเป็นบริษัท ลาลีกา เทค จำกัด ในปี 2021 ปัจจุบันทีทีมงานมากกว่า 150 คน
ภารกิจสำคัญของลาลีกา เทค คือการสร้างพื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่ ไว้ใช้รองรับข้อมูลดิบที่จะไหลเข้ามาด้วยปริมาณมหาศาล และทุกสโมสรสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์จากแหล่งเดียวกันได้
“ก่อนหน้านี้ เราไม่เคยเห็นความสำคัญของข้อมูลเลย จึงไม่เข้าใจว่าข้อมูลคือสินทรัพย์ที่มีค่า ทำให้เราได้คิดหาทางที่จะจัดการกับข้อมูลที่มากมายเหล่านี้” กิลเยร์โม่ รอลดาน หัวหน้าแผนกสถาปัตยกรรม กล่าว
“ตอนนี้เราได้สร้างที่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (Data Lakehouse) ขึ้นมา สามารถทำสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ให้เป็นเรื่องที่ง่ายมาก พลังของข้อมูลช่วยมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับแฟนๆ ที่ติดตามการแข่งขัน”
ด้านราฟาเอล ซามบราโน่ หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ข้อมูล เปิดเผยว่า “ประโยชน์หลักของการขับเคลื่อนฟุตบอลด้วยข้อมูล คือช่วยให้เราได้เข้าใจพฤติกรรมของแฟนฟุตบอลที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต”
“สำหรับแฟนๆ บางคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่หันไปดูฟุตบอลบนแพลตฟอร์มดิจิทัลแทน แต่ด้วยพลังของข้อมูล ช่วยให้เราสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับพวกเขาได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับกีฬาอื่นๆ ด้วย”
ขณะที่ทอม วูดส์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารกลยุทธ์ กล่าวว่า “ลาลีกา เทค กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทุกสิ่งที่ได้สร้างขึ้น กำลังเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมกีฬา ทำให้เราได้ตระหนักมากขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล”
“เราจำเป็นต้องมีสโมสรที่ก้าวหน้ามากกว่า 2-3 สโมสร และมีระดับที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้การแข่งขันมีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้วงการฟุตบอลเติบโต” วูดส์ ปิดท้าย
Mediacoach เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลตัวแรก
ก่อนที่ลูกหนังลีกแดนกระทิงดุ ฤดูกาล 2022/23 จะเริ่มขึ้น ได้มีการจัดประชุมในหัวข้อ “การวิเคราะห์ข้อมูลฟุตบอลขั้นสูง” โดยลาลีกา ร่วมกับ Sport Data Campus, มีเดียโค้ช (Mediacoach) และลาลีกา เทค
สาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ คือการนำเสนอความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจากฤดูกาล 2021/22 รวมถึงแง่มุมต่างๆ ของงานวิเคราะห์ข้อมูลในอุตสาหกรรมฟุตบอล และเปิดตัวเครื่องมือใหม่ที่จะใช้ในฤดูกาลนี้
เมื่อซีซั่นที่แล้ว ลาลีกา เทค ได้เปิดตัว Mediacoach แพลตฟอร์มวิเคราะห์การเล่นแบบเรียลไทม์ ทั้งการเคลื่อนที่ของผู้เล่นและลูกฟุตบอล เสร็จแล้วส่งผลออกมา เพื่อนำไปวิเคราะห์ในช่วงพักครึ่ง และหลังจบเกม
ข้อมูลจาก Mediacoach เป็นข้อมูลที่ใช้ติดตามการเคลื่อนที่ระหว่างแข่งขัน โดยมีการติดตั้งกล้องไว้รอบสนามทั้งหมด 19 ตัว จับภาพผู้เล่น, ผู้ตัดสิน และลูกฟุตบอล ในอัตรา 25 เฟรมต่อวินาที
โดยรายละเอียดต่างๆ ที่ Mediacoach ได้ทำการวิเคราะห์ออกมา อย่างเช่น ผู้เล่นวิ่งเยอะแค่ไหน, ผู้เล่นจ่ายบอลสำเร็จ/พลาดกี่ครั้ง รวมไปถึงการตรวจจับความผิดพลาดของผู้เล่นเป็นรายบุคคลด้วย
ริคาร์โด เรสต้า ผู้อำนวยการของ Mediacoach กล่าวว่า “Mediacoach เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี ทุกสโมสรจาก 2 ดิวิชั่นของลาลีกา สามารถเข้าถึงข้อมูลเดียวกันทั้งหมดได้”
นอกเหนือจากข้อมูลด้านแท็กติก Mediacoach ยังมีประโยชน์สำหรับทีมงานสตาฟฟ์โค้ช ในการประเมินสภาพร่างกายของผู้เล่น และประเมินโอกาสที่จะตรวจพบความผิดปกติใดๆ ทุกช่วงเวลาได้ทันที
ฟาบิโอ เนวาโด้ นักวิเคราะห์ทางเทคนิคของ Mediacoach กล่าวว่า “หากมีนักเตะที่เพิ่งกลับมาจากอาการบาดเจ็บเป็นเวลานาน ๆ บางทีอาจจะส่งลงเล่นช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้าย แต่ไม่อยากให้ทำแบบนั้น มันฝืนเกินไป”
“ข้อมูลจากแพลตฟอร์มของเรา สามารถตรวจสอบข้อมูลแบบนาทีต่อนาที ช่วยลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บของนักเตะ อีกทั้งช่วยให้นักเตะลงเล่นได้ใกล้เคียงกับประสิทธิภาพสูงสุดที่เคยมี”
ขณะที่ซิลเวสเตอร์ จอส ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Mediacoach เสริมว่า “ข้อมูล และกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล คือสิ่งที่สำคัญในวงการฟุตบอล เทคโนโลยีกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว โอกาสจะมีเข้ามาอย่างไม่รู้จบ”
Beyond Stats ช่วยเพิ่มพลังข้อมูลด้วย 24 ตัวชี้วัดใหม่
ทีมงานส่วนหนึ่งของลาลีกา เทค เป็นทีมงานที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล เช่น โค้ช, นักวิเคราะห์ฟุตบอล, นักพัฒนาโปรแกรม, วิศวกรข้อมูล (Data Engineer) รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist)
เมื่อเดือนมกราคม ปี 2022 ลาลีกาได้ร่วมมือกับไมโครซอฟท์ บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ระดับโลก เพื่อช่วยทำสถิติ และข้อมูลต่างๆ ในการแข่งขัน ภายใต้โปรเจค “Beyond Stats” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ต่อยอดมาจาก Mediacoach
การทำงานของ Beyond Stats จะประมวลผลข้อมูลในรูปแบบ Cloud Platform ด้วยเครื่องมือของไมโครซอฟท์ อย่าง Microsoft Azure ซึ่งใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning)
ซึ่งในเฟสแรกของ Beyond Stats ได้มีการสร้างโมเดล Goal Probability ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้สำหรับบอกค่าความน่าจะเป็นในการทำประตู เมื่อมีการรีเพลย์ภาพจังหวะการลุ้นยิงประตูระหว่างถ่ายทอดสด ซึ่งใช้เวลาประมวลผลแค่ 30 วินาทีเท่านั้น
ต่อมาในซีซั่น 2022/23 Beyond Stats ได้เพิ่มตัวชี้วัดใหม่ขึ้นมาอีก 24 ตัว ในด้านสมรรถภาพทางกาย, การป้องกันประตู, การเคลื่อนที่, การผ่านบอล, การยืนตำแหน่ง, การเพรสซิ่ง, การเลี้ยงบอล และการครองบอล
ทีมงานของลาลีกา ได้นำข้อมูลต่างๆ เข้ามาประมวลผ่านอัลกอริทึมที่กำหนดไว้ และแสดงผลลัพธ์ออกมา สำหรับตัวอย่างของตัวชี้วัดที่เพิ่มเติมขึ้นมาใน Beyond Stats มีดังนี้
– การผ่านบอลพร้อมถูกกดดันแบบประกบคู่ (Double pressure passes) คือ จำนวนการผ่านบอลระหว่างเพื่อนร่วมทีม 2 คน ที่ต่างคนต่างมีผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามเข้ามากดดันด้วย เช่น ระยะทางที่เปลี่ยนแปลงของกองหลัง (เมื่อเข้ามากดดัน ระยะทางจะลดลง 50 เปอร์เซ็นต์) รวมถึงทิศทางและความเร็วของการโจมตี (ด้วยความเร็วสูงถึง 21 กม./ชม.) สำหรับการผ่านบอลแบบนี้ จะนับจำนวนก็ต่อเมื่อ มีผู้เล่นคู่แช่งเข้ามากดดันผู้จ่ายบอล และผู้รับบอล ภายในระยะ 3 เมตร
– การตั้งกำแพง (Walls) คือ ตรวจจับการผ่านบอลแบบรูปสามเหลี่ยม ของเพื่อนร่วมทีม 2 คน พร้อมกับผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม 1 คน ตำแหน่งของผู้เล่นจะถูกคำนวณทีละเฟรม โดยนับจำนวนเฉพาะการผ่านบอลไปยังผู้เล่นที่ใช้เวลาไม่เกิน 12 เฟรม (0.5 วินาที) แล้วผ่านบอลคืนให้เพื่อนร่วมทีมคนเดิมในทิศทางที่ต่างกัน ให้เป็นลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม
– การวิ่ง (Runs) คือ การติดตามระยะทาง และความเร็วในการวิ่งของผู้เล่น ผ่านกล้องที่ติดตั้งบริเวณรอบสนาม โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ปกติ, ยาว, ช้าแบบสั้น และเร็ว จะนับจำนวนเฉพาะการวิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อวิ่งจากครึ่งสนามมาถึงกรอบเขตโทษฝ่ายตรงข้าม อย่างน้อย 3 วินาที และวิ่งด้วยระยะทางอย่างน้อย 10 เมตร จากนั้นจบด้วยการยิงประตูภายใน 10 วินาที หลังจากหยุดวิ่ง
– การแย่งบอลคืนในช่วงเวลาที่ได้เปรียบ (recoveries in advantage) คือ การบุกไปยังกรอบเขตโทษของฝ่ายตรงข้าม เมื่อเพื่อนร่วมทีมมีจำนวนมากกว่าคู่แข่ง หลังแย่งบอลจากผู้เล่นคู่แข่งกลับคืนมา
โลกธุรกิจยุคใหม่ “ข้อมูล” คือสินทรัพย์ที่มีความสำคัญอย่างมาก หากได้นำมาวิเคราะห์จนเห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ และนำข้อมูลมาใช้งานอย่างจริงจัง จะทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจแบบคาดไม่ถึงได้
เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง
อ้างอิง :
https://laligatech.com/who-is-laliga-tech
https://www.laliga.com/en-GB/beyondstats
https://www.laliga.com/en-GB/news/laliga-paves-the-way-for-the-future-of-bi-and-analytics-in-football-thanks-to-mediacoach-and-the-beyond-stats-project
https://www.laliga.com/en-GB/news/laliga-takes-pioneering-step-by-adding-advanced-near-real-time-goal-probability-graphics-to-its-broadcasts-thanks-to-microsoft-technology
https://www.laliga.com/en-GB/news/laliga-transforms-marketing-strategy-thanks-to-microsoft-and-the-potential-of-hundreds-of-terabytes-of-data
https://www.sportbusiness.com/2021/07/laligas-mediacoach-harnessing-the-power-of-match-data/
https://newsletter.laliga.es/global-futbol/laliga-mediacoach-clubs-compete-using-data
ที่มา: soccersuck