อูนิโอน เบอร์ลิน คลื่นลูกใหญ่จากตะวันออก กับความหวัง..สี่ปีสู่แชมป์บุนเดสลีกาสมัยแรก

#SSxKMD | Footballing Fairytale ช่วยเพิ่มสีสันความสวยงามและเสน่ห์ให้กับกีฬาลูกหนัง ที่แฟนบอลจะได้เห็นทีมเล็ก ๆ ทีมรองบ่อนประสบความสำเร็จอย่างเช่น เดนมาร์กกับแชมป์ยูโร 1992 และกรีซในรายการเดียวกันอีก 12 ปีต่อมา

ปอร์โตกับถ้วยบิ๊กเอียร์ปี 2004 ถือเป็นเทพนิยายเรื่องหนึ่งก็ได้แม้ “เดอะ ดรากอนส์” จะเป็นมหาอำนาจลูกหนังในโปรตุเกส แต่บนสังเวียนระดับทวีป พวกเขาเป็นเพียงม้านอกสายตา ส่วนเอฟเอ คัพ บอลถ้วยเก่าแก่อายุ 152 ปี ช่วงศตวรรษใหม่ ก็มีตัวอย่างให้เห็นสองครั้ง ปี 2008 พอร์ตสมัธ ซึ่งเล่นในพรีเมียร์ลีกตอนนั้น ชนะคาร์ดิฟ คู่แข่งจากแชมเปียนชิพ1-0 และปี 2013 วีแกนเฉือนแมนฯซิตี 1-0 ได้สิทธิเล่นยูโรปาลีกแต่ตกชั้นเพราะจบพรีเมียร์ลีกด้วยอันดับ 18

บอลถ้วยและทัวร์นาเมนท์ที่ใช้เวลาแข่งขันสั้นๆราวหนึ่งเดือน ว่ายากแล้วที่จะเกิดเรื่องเล่าชวนฝัน กลับยากขึ้นไปอีกกับฟุตบอลลีกที่ต้องรักษาฟอร์มให้สม่ำเสมอนานถึง 8-9 เดือน ซึ่งหากทีมไหนทำสำเร็จ สามารถใช้คำว่า “ปฏิหาริย์” ได้ไม่เกินจริงดังที่เคยเกิดขึ้นกับ เวโรนา แชมป์เซเรีย อา ซีซัน 1984-85, ซามพ์โดเรีย เจ้าของสคูเดตโต ซีซัน 1990-91, โวล์ฟส์บวร์ก แชมป์บุนเดสลีกา ซีซัน 2008-09, มงต์เปลลิเยร์ แชมป์ลีกเอิง ซีซัน 2011-12 และเลสเตอร์ ซิตี แชมป์พรีเมียร์ลีก ซีซัน 2015-16 ซึ่งเป็นตำนานที่ถูกหยิบขึ้นมาอ้างบ่อยครั้งที่สุดในฟุตบอลต้นศตวรรษที่ 21

เลสเตอร์เป็นเทพนิยายลูกหนังที่ใกล้ชิดคนไทยมากที่สุดเพราะก่อนหน้านั้นหกปี กลุ่มทุน Asian Football Investments ซึ่งนำโดยบริษัทคิง พาวเวอร์ กรุ๊ป เข้าเทคโอเวอร์สโมสรในเดือนสิงหาคม 2010 และสื่อไทยได้ตั้งฉายา “เดอะ ฟ็อกซ์” ว่า “จิ้งจอกสยาม”

ซีซัน 2009-10 เลสเตอร์เพิ่งเลื่อนจากลีกวันขึ้นมาอยู่แชมเปียนชิพเป็นปีแรก ใช้เวลาห้าปีครองแชมป์ลีกเทียร์สองในฤดูกาล 2013-14 และจบพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2014-15 ด้วยอันดับ 14 ก่อนที่ฤดูกาลต่อมา เคลาดิโอ รานิเอรี ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งผู้จัดการทีมปีแรก พาลูกทีมจิ้งจอกสยามสร้างประวัติศาสตร์ ชนะเลิศลีกสูงสุดสมัยแรก โกยแต้มทิ้งรองแชมป์ อาร์เซนอล 10คะแนน

ฤดูกาลนี้เชื่อว่าแฟนบอลทั่วโลกกำลังจับตามองไปที่ลีกเยอรมนีว่า จะเกิดเทพนิยายเรื่องใหม่ขึ้นหรือไม่ แต่ไม่ใช่คู่แข่งเจ้าประจำอย่างโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่มีสิทธิ์โค่นบาเยิร์น มิวนิก ลงจากบัลลังก์บุนเดสลีกาที่ครองยาวนานหนึ่งทศวรรษติดต่อกัน แต่ทีมนั้นเป็นแค่อดีตสโมสรจากเยอรมนีตะวันออก เพิ่งเข้ามาอยู่ระบบฟุตบอลลีกเมืองเบียร์ในปี 1990 และลงแข่งสังเวียนบุนเดสลีกาครั้งแรกในซีซัน 2019-20 แถมทำเซอร์ไพรส์จบด้วยอันดับ 11 ก่อนพัฒนาขึ้นเป็นอันดับ 7, อันดับ 5 และซีซันนี้เป็นการแข่งขันบุนเดสลีกาปีที่ 4 ของพวกเขาในประวัติศาสตร์สโมสรที่มีอายุเพียง 57 ปี (นับเฉพาะช่วงที่ใช้ชื่อทีมปัจจุบัน)

ทีมนั้นคือ “อูนิโอน เบอร์ลิน” ซึ่งเคยยืนแป้นจ่าฝูงบุนเดสลีกาครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลังชนะโคโลญจน์ ซึ่งเป็นแมตช์เดย์ที่ 6 ของซีซัน 2022-23 สามารถรักษาอันดับหนึ่งต่อเนื่องถึงนัดที่ 13 และล่าสุดนัดที่ 22 พวกเขาแพ้บาเยิร์น 0-3 ที่มิวนิก รั้งอันดับสาม มี 43 คะแนน ตามหลังแชมป์เก่าและดอร์ทมุนด์ทีมละสามคะแนน ส่วนยูโรปาลีก “ดิ ไอออน วันส์” เข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายแล้ว เจอโรยัล ยูเนียน แซงต์-กิลลัวส์ จากเบลเยียม

งบทำทีมน้อย ใช้สอยประหยัดและชาญฉลาด

เว็บไซต์ข้อมูลสถิติสัญชาติเยอรมัน Transfermarkt เคยประเมินมูลค่านักเตะของสองทีมม้ามืดที่กำลังมาแรง อูนิโอน เบอร์ลิน กับ ไฟร์บวร์ก รวมกันอยู่ที่ 294 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับเหล่ายักษ์ใหญ่เมืองเบียร์ บาเยิร์น มิวนิก (967 ล้าน), อาร์เบ ไลป์ซิก (533 ล้าน), โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ (531 ล้าน) และไบเออร์ เลเวอร์คูเซน (517 ล้าน)

อูนิโอน เบอร์ลิน เป็นเพียงแจ็คท่ามกลางเหล่าโกไลแอธ โอลิเวอร์ รูห์เนิร์ต ผู้อำนวยการด้านกีฬาของสโมสร ไม่มีงบมากพอจะซื้อผู้เล่นระดับแชมเปียนส์ลีกหรือยูโรปาลีก และแทบไม่เคยเซ็นสัญญากับนักเตะหนุ่มๆอายุน้อยกว่า 23 ปีเลย เขาวางเป้าไปที่ลีกยุโรประดับรองๆอย่างเบลเยียม, โปแลนด์ และเนเธอร์แลนด์

เก้าปีที่แล้ว เซรัลโด เบ็คเกอร์ ไม่สามารถพาตัวเองจากอะคาเดมีของอาแจ็กซ์ขึ้นมาอยู่ทีมชุดใหญ่ เขาต้องใช้เวลากับทีม PEC Zwolle และ ADO Den Haag จนกระทั่งซัมเมอร์ปี 2019 รูห์เนิร์ตได้เบ็คเกอร์มาแบบฟรีๆ โดยบอลลีกซีซันนี้ กองหน้าวัย 28 ปี ทำ 7 ประตู 4 แอสซิสต์จาก 21 นัด (สถิติก่อนนัดที่ 22 กับบาเยิร์น) ตอนนี้เบ็คเกอร์ถูกตีค่าตัวไว้ราว 16 ล้านเหรียญสหรัฐ

ซัมเมอร์ปีที่แล้ว จอร์แดน ซีบาตรเชอ ย้ายจากยัง บอยส์ เบิร์น ในสวิตเซอร์แลนด์ด้วยค่าตัว 6 ล้านเหรียญสหรัฐ ศูนย์หน้าอเมริกันวัย 26 ปี ที่มีส่วนสูง 191 เซนติเมตรลงสนามบุนเดสลีกา 19 นัด ทำ 4 ประตู 3 แอสซิสต์

เควิน แบห์เรนส์ กองหน้าวัย 32 ปี เล่นในลีกเทียร์สี่จนถึงปี 2018 ก่อนย้ายมาเอสเฟา ซานด์เฮาเซ่น ในบุนเดสลีกา 2 และเซ็นสัญญากับอูนิโอน เบอร์ลิน กลางปี 2021 โดยซีซันนี้ เขาลงบอลลีก 21 นัด ทำไป 4 ประตู 1 แอสซิสต์

“ดิ ไอออน วันส์” ยังเก็บรักษาผู้เล่นเก่าทรงคุณค่าด้วย หนึ่งในนั้นคือ คริสโตเฟอร์ ทริมเมล กัปตันทีมวัย 35 ปี ที่เล่นได้ทั้งแบ็คและวิงแบ็คฝั่งขวา เขาอยู่ราปิด เวียนนา ในลีกบ้านเกิด ออสเตรีย นานหกปีก่อนย้ายมาเล่นให้อูนิโอน เบอร์ลิน ในซีซัน 2014-15 สมัยยังอยู่บุนเดสลีกา 2 ปัจจุบันทริมเมลรับใช้สโมสรรวมทุกรายการ 287 นัด สำหรับบอลลีกซีซันนี้ เขาทำ 5แอสซิสต์จาก 17 นัด

กลางปีที่แล้ว อูนิโอน เบอร์ลิน ยังจ่ายราคาเบาๆได้สองมิดฟิลด์ใหม่เพื่อรับบทกองหนุนสำคัญคือ ยานิค ฮาเบเรอร์ จากไฟร์บวร์ก ที่ลงสนามบุนเดสลีก 19 นัด 1,351 นาที ทำ 5 ประตู 1 แอสซิสต์ และ มอร์เตน ธอร์สบี จากซามพ์โดเรีย ที่โชคร้ายบาดเจ็บ จำกัดผลงานไว้เพียง 14 นัด 452 นาที 1 ประตู 1 แอสซิสต์

อูนิโอน เบอร์ลิน ยังเซ็นยืมตัวหนึ่งปี ดีโอโก ไลเต กองหลังวัย 23 ปีจากปอร์โต มาช่วยเสริมแกร่งให้เกมรับ เขาเล่นบอลลีกไปแล้ว 17 นัด 1,459 นาที จ่ายให้เพื่อนจบหนึ่งสกอร์

โค้ชโลว์โปรไฟล์ ยึดหลัก “ทำงาน ทำงาน ทำงาน”

อีกหนึ่งบุคคลสำคัญโดยตำแหน่งที่พาทีมมาถึงจุดนี้ได้แก่ อูร์ส ฟิสเชอร์ โค้ชชาวสวิสวัย 57 ปี ซึ่งเซ็นสัญญาสองปีกับอูนิโอน เบอร์ลิน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2018 และเพียงปีเดียวเขาก็พาทีมจากบุนเดสลีกา 2 ขึ้นมาลีกเทียร์หนึ่ง อีกทั้งยังทำเซอร์ไพรส์จบซีซัน 2019-20 ด้วยอันดับ 11

ยูเลียน เยอร์สัน แบ็คขวาชาวนอร์เวเจียน ที่ร่วมทีมสมัยอยู่ในบุนเดสลีกา 2 ก่อนย้ายไปเล่นกับดอร์ทมุนด์ในตลาดฤดูหนาวที่ผ่านมา ย้อนถึงการเล่นของอูนิโอน เบอร์ลิน ว่า “ทุกนัดเราทำเหมือนกับที่เคยๆทำนั่นแหละ ยึดมั่นในสิ่งที่เราทำได้ดี ยึดมั่นกับแผน เล่นด้วยความกล้าหาญ การจัดระเบียบเกมรับที่อยู่ระดับต้นๆ การโต้กลับฉับพลันที่เราใช้ได้ผลมาตลอด และแน่นอน เราทำงานกันหนัก”

สไตล์ทำทีมของฟิสเชอร์สามารถนิยามด้วยสองคำคือ defending และ transition ภายใต้การรักษาระเบียบวินัยอย่างเข้มข้น อูนิโอน เบอร์ลิน ใช้ฟอร์แมทพื้นฐาน 3-5-2 หรือ 5-3-2 พร้อมหาจังหวะจู่โจมด้วยเคาน์เตอร์แอ็ทแท็ค ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญพาทีมจบซีซันที่แล้วด้วยอันดับห้า พลาดโควตาแชมเปียนส์ลีกเพียงคะแนนเดียว ส่วนซีซันปัจจุบัน ทีมยังไม่เคยหลุดท็อป-5 ของบุนเดสลีกาเลย แต่กระนั้น ฟิสเชอร์ยังให้สัมภาษณ์ว่าเขาแค่ทำงานไปสัปดาห์ต่อสัปดาห์ด้วยเป้าหมายให้ทีมยังได้เล่นในลีกสูงสุดต่อไป

คำพูดกับสื่ออธิบายตัวตนในการทำงานของฟิสเชอร์ได้ดี เขาบริหารจัดการทีมแบบไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน ชอบโรเตชันผู้เล่น 11 คนแรกบ่อยครั้ง ซึ่งสร้างความงุนงงต่อเฮดโค้ชคู่แข่ง กุนซือสวิสยังรักษาบรรยากาศแข่งขันที่เข้มข้นในสนามฝึกซ้อม แต่ทำให้ห้องแต่งตัวนักกีฬาอบอวลไปด้วยความสุข

คริสโตเฟอร์ บีเออร์มานน์ นักเขียนเยอรมันเจ้าของหนังสือ Football Hackers: The Science and Art of a Data Revolution พูดถึงฟิสเชอร์ว่า “เขาเป็นโค้ชระดับท็อปแต่คนไม่ค่อยรู้จักเขานัก”

ตามประวัติ ฟิสเชอร์ไม่เคยออกจากสวิตเซอร์แลนด์ทั้งฐานะนักเตะและโค้ชจนกระทั่งบาเซิลไม่ต่อสัญญาใหม่กับเขาแม้เพิ่งพาทีมชนะเลิศสวิส คัพ ปี 2017 เขาว่างงานปีเศษก่อนเดินทางออกนอกประเทศเพื่อคุมทีมอูนิโอน เบอร์ลิน

บีเออร์มานน์เล่าต่อว่า “คนไม่รู้จักอูร์สเพราะเขาไม่ค่อยเก่งเรื่องทำการตลาดให้ตัวเอง เขามักปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ บางครั้งก็ให้ทีมงานรับหน้าที่แทน ขณะที่เยอร์เกน คล็อปป์ เป็นอีกปลายด้านหนึ่งของลำแสง เขามักมีวลีเด็ดๆนำมาอธิบายสถานการณ์เรื่องราวต่างๆได้ดี แต่อูร์สเป็นคนฝั่งตรงข้าม เขาดูน่าเบื่อกว่าที่ตัวเองเป็นจริงๆ สิ่งที่เขาทำคือเรื่องในสนามซ้อมและห้องแต่งตัวนักกีฬา”

บีเออร์มานน์ ซึ่งทำงานให้นิตยสารฟุตบอล 11Freunde เกาะติดอูนิโอน เบอร์ลิน มาตั้งแต่เลื่อนชั้นจากบุนเดสลีกา 2 “อูร์สมีอิทธิพลต่อนักเตะของเขามากดูอย่างเคดีรา เคยเป็นแค่นักเตะที่พอเล่นได้ แต่ฝีเท้าตอนนี้ยกระดับอยู่ในบุนเดสลีกาคลาสไปแล้วเพราะทำงานร่วมกับอูรส์”

รานี เคดีรา มิดฟิลด์ตัวรับวัย 26 ปี เล่นอยู่กับเอาส์บวร์กนานสี่ปีก่อนเซ็นสัญญากับอูนิโอน เบอร์ลิน เมื่อปี 2021 ซีซันนี้เขาเล่นบุนเดสลีกา 20 นัด และยูโรปาลีก 8 นัด เป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งของทีม

“อูร์สและสตาฟฟ์โค้ชเปิดวิดีโอเทปอธิบายให้เคดีรารู้ว่าพวกเขาต้องการอะไรในฐานะมิดฟิลด์ จากนั้นเขาก็ปรับการเล่นให้ได้ คุณจะเห็นพัฒนาการของผู้เล่นเกือบทุกคนที่ทำงานกับอูร์ส เพราะถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องออกจากทีม”

“อูนิโอน เบอร์ลิน เป็นทีมที่มีการจัดวางเกมรับดีมาก คู่ต่อสู้ที่ครองบอลจะถูกกดดันเสมอ ทุกคนในทีมจะคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่ให้เกิดช่องว่าง ไม่มีทีมไหนในบุนเดสลีกาที่จัดระบบเกมรับได้ดีแบบนี้อีกแล้ว นี่เป็นทีมที่ดีที่เปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่น พวกเขาเป็นนักเตะมีคุณภาพแต่ใช่ว่าจะมีสโมสรในพรีเมียร์ลีกเข้าคิวหวังซื้อพวกเขาหรอกนะ แต่พวกเขาล้วนมีทัศนคติที่ดี แล้วแฟนๆก็ไม่โห่นักเตะตัวเองในวันที่เล่นแย่ด้วย”

ความรักของเรา ทีมของเรา ความภูมิใจของเรา สโมสรของเรา

“Unsere liebe. Unsere mannschaft. Unser stolz. Unser verein.” เป็นเพลงเชียร์ประจำเพื่อให้กำลังใจนักเตะ ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “Our love. Our team. Our pride. Our club.”

ยูเลียน เยอร์สันเปิดใจถึงการสนับสนุนที่ได้รับจากแฟนๆตลอดสี่ปีครึ่งที่อยู่กับอูนิโอน เบอร์ลิน ว่า “มันมอบพลังงานให้กับเรามากเลย คุณสัมผัสมันได้ตั้งแต่ตอนลงวอร์มอัพ การได้เล่นโดยมีแฟนบอลคอยหนุนหลังช่วยเราได้เยอะ เราจึงมีความเชื่อมั่นเสมอว่าสามารถเอาชนะใครก็ได้โดยเฉพาะที่นี่”

ที่นี่ก็คือ “สตาดิโอน อัน แดร์ อัลเทน เฟิร์สเตอร์ไอ” (Stadion An der Alten Försterei) ซึ่งมีความหมายว่า Stadium at the old forester’s house อยู่ในเมือง Köpenick ในเบอร์ลิน

สนามแห่งนี้เปิดใช้เมื่อปี 1920 สมัยทีมยังใช้ชื่อ SC Union Oberschöneweide เคยได้รับการปรับปรุงสามครั้งในปี 1955, 2000, 2009 ซึ่งสองครั้งหลังสุดเกิดขึ้นหลังการรวมประเทศเยอรมนีตะวันออกกับตะวันตก ซึ่งอูนิโอน เบอร์ลิน ถูกจัดให้เล่นเทียร์สามของลีกเมืองเบียร์ และสนามเหย้าที่เก่าคร่ำคร่าตกยุคเป็นปัจจัยหนึ่งที่ขวางไม่ให้ทีมเลื่อนชั้นทั้งที่ทำผลงานได้ดี

กลางปี 2008 สโมสรตัดสินใจปรับปรุงสนามครั้งใหญ่แต่ขาดงบประมาณ นั่นทำให้เกิด “ปรากฎการณ์” แฟนบอล 2,333คนร่วมกันลงแรงทำงานนับ 140,000 ชั่วโมง เพื่อสร้างสนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในนครเบอร์ลินตั้งแต่ปี 2009 และมีการจัดงานฉลองเปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2013 ทีมเตะนัดพิเศษกับเซลติก แชมป์ลีกสกอตแลนด์ สนามมีความจุ 22,012 คน แบ่งเป็น 3,617 คนที่มีเก้าอี้ให้นั่ง ส่วนที่เหลือยืนบนเทอร์เรซ

จาค็อบ สวีทแมน นักข่าวชาวอังกฤษที่ย้ายมาอยู่นครเบอร์ลินตั้งแต่ปี 2007 กล่าวว่า “ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนั้นมาก่อนในชีวิต มันสำเร็จได้อย่างน่าอัศจรรย์ด้วยน้ำมือของแฟน ๆ”

“ผมอยู่ในแมตช์สุดท้ายของสนามเก่าด้วย ผู้คนต่างกอดกันและกัน ผมไม่อยากขยับตัวออกไปจากที่นั่นเลย มันเป็นอะไรที่โรแมนติกมาก”

“ที่นี่ให้บรรยากาศเหมือนชุมชน แฟนบอลยืนตำแหน่งเดิมบนเทอร์เรซที่พวกเขายืนมาเกือบสามสิบปี ยืนข้าง ๆ คนเดิม จากรุ่นสู่รุ่น นั่นจึงเป็นเรื่องเศร้าเมื่อผมเข้าทำงานที่ออฟฟิศสโมสร เพราะนั่นทำให้ผมเสียตำแหน่งที่เคยยืนไป”

“พนักงานทุกคนในออฟฟิศสโมสรล้วนเป็นแฟนบอล ตั้งแต่ฝ่ายการตลาดยันคนขายตั๋ว คนเหล่านี้ใช้ชีวิตที่นี่มาทั้งชีวิต แปดสิบเปอร์เซ็นต์อยู่ในเมือง Kopenick รวมถึงเดิร์ค ซิงค์เลอร์ ก็สืบทอดตำแหน่งประธานสโมสรมาจากคุณปู่ ทั้งหมดทำให้สโมสรแห่งนี้มีความพิเศษ”

“ความรักของเรา ทีมของเรา ความภูมิใจของเรา สโมสรของเรา” จึงประโยคที่ฝังอยู่ในจิตวิญญาณของทุกคนเกี่ยวข้องกับอูนิโอน เบอร์ลิน

แจ็คจากตะวันออก หาญท้าล้มยักษ์แห่งตะวันตก

อูนิโอน เบอร์ลิน มีจุดกำเนิดมาจาก FC Olympia Oberschöneweide ที่ก่อตั้งสโมสรเมื่อปี 1906 (เยอรมนีแบ่งแยกดินแดนตะวันตกและตะวันออกระหว่างปี 1949 ถึง 1990) ใน Oberschöneweide ซึ่งสมัยนั้นเป็นชานเมืองเบอร์ลิน ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น SC Union 06 Oberschöneweide ในปี 1910 อูนิโอนเป็นหนึ่งในทีมแกร่งของเบอร์ลินตอนนั้น ครองแชมป์ระดับท้องถิ่นหลายสมัย และยังเข้าถึงรอบชิงแชมป์แห่งชาติเยอรมนี ปี 1923 แต่แพ้ฮัมบวร์ก เอสเฟา 0-3

สโมสรเปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้งด้วยหลายเหตุผลโดยเฉพาะระหว่างทศวรรษ 1940 ถึง 1950 ก่อนมาเป็น TSC Berlin ในปี 1963 และ 1. FC Union Berlin (ชื่อเต็มอย่างเป็นทางการ) ในปี 1966 ซึ่งถูกใช้ยาวนานถึงปัจจุบัน แต่อูนิโอน เบอร์ลิน ไม่มีผลงานน่าประทับใจนัก ขึ้นๆลงๆระหว่างฟุตบอลลีกเทียร์ 1-2 ของเยอรมนีตะวันออก DDR-Oberliga และ DDR-Ligaส่วนบอลถ้วย อีสต์ เยอรมัน คัพ “ดิ ไอออน วันส์” เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศสองครั้งคือ ปี 1968 ชนะ FC Carl Zeiss Jena 2-1 และปี 1986 แพ้ FC Lokomotive Leipzig 1-5

หลังจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) รวมประเทศกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมนีตะวันออก) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 1990 อูนิโอน เบอร์ลิน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบฟุตบอลลีกเยอรมนี เริ่มแข่งในลีกภูมิภาคNOFV-Oberliga Mitte ซึ่งเป็นระดับเทียร์สาม ก่อนถูกย้ายไปเล่นลีก Regionalliga Nordost และ Regionalliga Nord โดยทีมมนุษย์เหล็กชนะเลิศถึงห้าสมัยระหว่างปี 1991 ถึง 2001 แต่ไม่สามารถเลื่อนชั้นขึ้นไปแข่งขันในบุนเดสลีกา 2 เนื่องจากสโมสรมีปัญหาทางการเงินโดยเฉพาะปี 1997 ที่เจอวิกฤติถึงขั้นเกือบล้มละลาย

ในที่สุดก็ถึงวันสดใส อูนิโอน เบอร์ลินได้เล่นบุนเดสลีกา 2 หลังจากครองแขมป์ Regionalliga Nord ซีซัน 2000-01 แถมปีนั้นยังได้ชิงชนะเลิศ เยอรมัน คัพ กับชาลเก 04 แต่แพ้ 0-2 อย่างไรก็ตาม พวกเขาอยู่เทียร์สองได้แค่สามปีก็ตกไปอยู่ Regionalliga Nord (เทียร์สาม) ในซีซัน 2004-05 ตามด้วย NOFV-Oberliga Nord (เทียร์สี่) ซีซัน 2005-06 ซึ่งท้ายสุด อูนิโอน เบอร์ลิน เข้าวินและกลับขึ้นมาอยู่เทียร์สามอีกครั้งในซีซัน 2006-07

ฤดูกาล 2008-09 ลีกา 3 ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นปีแรกในฐานะลีกเทียร์สามที่อยู่ระหว่าง 2. Bundesliga กับ Regionalliga (ที่กลายเป็นเทียร์สี่) โดยอูนิโอน เบอร์ลิน ซึ่งรั้งอันดับ 4 ของ Regionalliga Nord ในซีซันก่อนหน้านี้ ได้รับคัดเลือกให้ขึ้นมาเล่นลีกา 3 ด้วย

อูนิโอน เบอร์ลิน กลายเป็นแชมป์ทีมแรกในประวัติศาสตร์ลีกเทียร์สามใหม่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2009 เลื่อนขึ้นมาอยู่บุนเดสลีกา 2 อย่างสง่างาม แต่พวกเขาต้องใช้เวลาถึงสิบปีจึงได้สัมผัสลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกหลังจบบุนเดสลีกา 2 ซีซัน 2018-19 ด้วยอันดับสาม ได้สิทธิเตะเพลย์ออฟกับซตุ๊ตการ์ต ทีมจากโซนตกชั้น (อันดับ 16) ของบุนเดสลีกา ผลเสมอกัน 2-2 แต่ทีมมนุษย์เหล็กชนะด้วยกฎการยิงประตูของทีมเยือน ส่งให้ทีมม้าขาวหล่นลงมาเทียร์สองแทน

นั่นทำให้ อูนิโอน เบอร์ลิน เป็นสโมสรจากเบอร์ลินตะวันออกทีมแรกที่ได้แข่งขันบุนเดสลีกา และเป็นทีมที่หกจากเยอรมนีตะวันออกต่อจาก ดีนาโม เดรสเดน, ฮันซา รอสต็อก, วีเอฟเบ ไลป์ซิก, เอเนอร์ยี คอตต์บัส และอาร์เบ ไลป์ซิก

ในการเตรียมทีมเพื่อร่วมสมรภูมิลีกสูงสุด ฤดูกาล 2019-20 อูนิโอน เบอร์ลิน คว้าตัว เนเวน ซูโบติซ ปราการหลังจากแซงต์ เอเตียน, แอนโธนี อูจาห์ กองหน้าจากไมน์ซ 05 และคริสเตียน เกนท์เนอร์ มิดฟิลด์จากซตุ๊ตการ์ต รวมถึงต่อสัญญากับมาร์วิน ฟรีดริช ผู้ยิงประตูสำคัญในเกมเพลย์ออฟกับซตุ๊ตการ์ต

อูนิโอน เบอร์ลิน พัฒนาผลงานในบุนเดสลีกตลอดสามซีซันแรก จบโปรแกรมแข่งด้วยอันดับ 11, 7, 5 ตามลำดับ และกำลังมีโอกาสคว้าแชมป์สมัยแรกในการแข่งขันบุนเดสลีกาเพียงฤดูกาลที่สี่ของพวกเขา

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer)

ที่มา: soccersuck

ความคิดเห็น

ความคิดเห็น

จำนวนคนดู:
X ปิด