เปิดผลงาน! บอลไทย 8 ปี ‘สมยศ’ ทำอะไรไว้บ้าง?
พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เตรียมโบกมือลาตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ หลังบริหารงานมาครบวาระ
ตลอดระยะเวลา 8 ปี หรือ 2,922 วัน นับตั้งแต่ที่เข้ามาทำหน้าที่เมื่อปี 2016 มีผลงานอะไรบ้าง ติดตามได้ที่นี่
[วางโครงสร้างที่มั่นคง]
พลันที่เข้ามารับตำแหน่ง พล.ต.อ.สมยศ มุ่งมั่นต้องการที่จะยกระดับให้สมาคมกีฬาฟุตบอลไทยเป็นองค์กรที่มีความพร้อมแบบมืออาชีพ ทั้งบุคลากร สถานที่ และองค์ความรู้ โดยเริ่มต้นด้วยการวางระบบโครงสร้างองค์กรใหม่ พร้อมเพิ่มบุคลากรมืออาชีพที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาดูแล
บุคลากรที่ถูกดึงเข้ามาไม่เพียงแค่มืออาชีพในวงการฟุตบอลเท่านั้น แต่ยังมีทั้งนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเงิน การบัญชี การบริหารองค์กร การติดต่อระหว่างประเทศ ไปจนถึงนักวิทยาศาสตร์การกีฬา นักโภชนาการ นักเก็บข้อมูลสถิติ ที่เข้ามาช่วยดูแลอย่างตรงจุด
เมื่อมีบุคลากรมืออาชีพครบครัน สิ่งที่ต้องมีควบคู่กันก็คือสถานที่ทำงานอันตอบโจทย์ จึงนำมาซึ่งที่ทำการสมาคมกีฬาฟุตบอลฯแห่งใหม่ ที่มีการแบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจนให้ทุกฝ่ายสามารถทำงานและประสานงานกันได้อย่างไหลลื่นไม่ติดขัด
ขณะเดียวกัน ระหว่างที่กำลังวางรากฐานให้มั่นคง สมาคมกีฬาฟุตบอลฯของพล.ต.อ.สมยศ ยังต้องสะสางปัญหาที่ค้างคามาตั้งแต่ยุคก่อนทั้งเรื่องหนี้สินและคดึความต่างๆ เพื่อให้ทุกอย่างกลับมาพร้อมทำงานอย่างเต็มที่
เมื่อบ้านมีโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรงแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องทำต่อไปก็คือการตกแต่งให้น่าอยู่ เพื่อให้บ้านของฟุตบอลไทยมีความทันสมัยและงดงามไม่แพ้นานาประเทศ จึงตามมาด้วยโครงการอีกมากมายที่เริ่งต้นขึ้น
[พัฒนาสู่ระดับสากล]
แม้จะเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ไม่นาน ในช่วงขวบปีแรก พล.ต.อ.สมยศไม่เพียงแค่วางโครงสร้างการทำงานที่มั่นคงให้กับสมาคมกีฬาฟุตบอลเท่านั้น แต่ยังมีวิสัยทัศน์มองไกลสู่การพัฒนาฟุตบอลไทยให้ได้มาตรฐานระดับโลก
เจ้าตัวจึงตัดสินใจบินลัดฟ้าไปหารือและขอคำปรึกษาจาก จานนี่ อินฟานติโน่ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA ถึงแผนการพัฒนาฟุตบอลไทย
การพูดคุยเป็นไปอย่างชื่นมื่น พล.ต.อ.สมยศได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะพัฒนาฟุตบอลไทยอย่างแท้จริง ขณะที่อินฟานติโน่เองก็พร้อมที่จะสนับสนุนประเทศไทยอย่างเต็มที่
FIFA เองมีแผนที่จะสนับสนุนชาติสมาชิกผ่านโครงการ FIFA Forward 1.0 มาตั้งแต่ปี 2016 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและยกระดับวงการฟุตบอลทั่วโลกอย่างยั่งยืน (ต่อด้วยด้วย FIFA Forward 2.0 และ 3.0)
โครงการนี้จะนำเงินรายได้อันเกิดจากการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของสหพันธ์ มาจัดสรรให้แก่ประเทศสมาชิก โดยปรับให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละประเทศ ซึ่งแต่ละชาติต้องทำแผนธุรกิจ แผนโครงการ ตลอดจนแหลักฐานอื่นๆ นำเสนอต่อบอร์ดฟีฟ่าเพื่อให้อนุมัติ ซึ่งไม่ใช่ทุกชาติที่จะได้รับ
ทีมงานสมาคมกีฬาฟุตบอลไทย ได้ทำงานอย่างหนักจนแผนงานผ่านการอนุมัติในที่สุด พร้อมได้นำเงินไปสร้าง ศูนย์พัฒนาศักยภาพกีฬาฟุตบอลสมาคมฯ ภายในมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และ FA Thailand Futsal and Match Operation Center รวมถึงเตรียมสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติแห่งใหม่ด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน FIFA ยังได้มอบองค์ความรู้ผ่านโครงการ “Grow Together” ให้ประเทศไทยนำมาใช้ ซึ่งถือเป็น “คู่มือ” การจัดทำโครงสร้างระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ของฟุตบอลอย่างยั่งยืน ออกแบบโดย อาร์แซน เวนเกอร์ อดีตผู้จัดการทีมอาร์เซนอล ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกพัฒนาฟุตบอลของ FIFA
โดยประเทศไทยเป็น “ประเทศแรก” ที่ FIFA ได้มอบระบบนี้มาให้วางรากฐาน พร้อมยังมอบหมายให้ การ์เลส โรมาโกซา นักบริหารเทคนิคฟุตบอลมากประสบการณ์ชาวสเปน ที่เคยทำงานร่วมกับสโมสรบาร์เซโลนา และปารีส แซงต์ แชร์กแมง รวมถึงสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นและฟินแลนด์ เป็นตัวแทน FIFA ให้นำคู่มือดังกล่าว ลัดฟ้ามาช่วยวางระบบและปรับแต่งให้เหมาะกับบริบทของสังคมไทย
Grow Together คือหลักสูตรการพัฒนาฟุตบอลเยาวชนทั้งประเทศ ที่แบ่งหมวดการพัฒนาออกเป็น 6 มิติ ครบตั้งแต่ต้นจนจบ สำหรับนักเตะทั้งบอลชาย บอลหญิง โค้ช บุคลากร ผู้ปกครอง ตลอดจนหน่วยงาน ประกอบด้วย
Coaching Education – หลักสูตรการสร้างโค้ชมาตรฐานโลก เพื่อให้ประเทศไทยมีโค้ชที่มีขีดความสามารถที่ทั่วโลกยอมรับ
Grassroots – หลักสูตรการพัฒนานักฟุตบอลตั้งแต่รากหญ้า โดยไม่แบ่งแยก เพศ อายุ เชื้อชาติ สีผิว พร้อมเก็บประวัติและสถิตินักฟุตบอลระดับเยาวชนทั่วประเทศเพื่อทำฐานข้อมูล (Database) ในการเฟ้นหาเพชรเม็ดงานก้าวสู่ทีมชาติไทย
Academy – จัดทำระบบอคาเดมีทั่วประเทศให้มีมาตรฐาน โดยจัดทำ Academy Licensing ออกใบรับรองตามเกณฑ์ของ AFC เพื่อเชื่อมต่อกับทางสมาคม ร่วมกันจัดกิจกรรมและแบ่งปันองค์ความรู้ พร้อมเก็บประวัติและสถิติเพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด
Competitions – จัดการแข่งขันฟุตบอลลีกสำหรับเยาวชน ในรุ่นอายุไม่เกิน 14 16 และ 18 ปี เพื่อเป็นเวทีให้นักฟุตบอลเยาวชนไทยในรุ่นอายุต่างๆ ได้มีโอกาสลงแข่งขันในรายการที่ได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ
Talent Identification – จัดทีม Scout เฟ้นหานักเตะที่โดดเด่นทั้งไหวพริบและฟอร์มการเล่นแต่ละตำแหน่ง ทั้งชายและหญิง ตามการแข่งขันรายการต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเก็บข้อมูลเข้าสู่ระบบ Talent ID แล้วนำมาเก็บตัวฝึกซ้อมภายใต้การดูแลของโค้ชเยาวชนมืออาชึพอย่างใกล้ชิด
Sports Science And Technology – สร้างเทคโนโลยีเชื่อมข้อมูลเข้ากับแพลตฟอร์ม ACADEMY LICENSING , E LEARNING , COMPETITION MANAGEMENT เพื่อให้ทั้งทางฝั่งสมาคมฯ อคาเดมี โค้ช นักเตะ ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครองนักเตะทุกรุ่น ทุกช่วงอายุ สามารถเข้าถึงข้อมูล สถิติ อันเป็นประโยชน์ได้อย่างสะดวก
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ถูกเซตไว้อย่างเป็นระบบเป็นที่เรียบร้อย เพื่อรอคอยวันที่จะผลิดอกออกผลต่อไปในอนาคต ซึ่งวันนี้ได้มีต้นกล้าที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นมาให้เห็นบ้างแล้ว
[ก้าวสู่ความยั่งยืน]
ในวันนี้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยเรียกได้ว่าสมบูรณ์พร้อมทุกมิติ ทั้งด้านโครงสร้างการบริหารและรากฐานในสนาม
เรามีทีมงานมืออาชีพและที่ทำการสมาคมที่ทันสมัย อุดมไปด้วยเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ได้มาตรฐานและเป็นระบบระเบียบชัดเจน
มีการจัดแข่งขันระดับ YOUTH LEAGUE รุ่นอายุไม่เกิน 14, 16 และ 18 ปี รวมถึงกิจกรรม Grassroots Festival สำหรับรุ่นอายุ 10-12 ปี เพื่อเก็บสถิติข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และยังมีอคาเดมีทั่วประเทศไทย ที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมฯ แล้ว 780 แห่ง
จนเกิดเป็นเพชรเม็ดงามเข้าสู่โครงการ Talent ID จำนวนมาก และสามารถต่อยอดก้าวสู่การติดทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ได้ถึง 17 คน พร้อมทำผลงานทะลุเข้าสู่รอบรอนงชนะเลิศศึกชิงแชมป์เอเชีย 2023 ได้อีกด้วย
ขณะเดียวกันยังมีโค้ชที่ได้ License ทุกระดับ ทั้งชายและหญิงทั่วประเทศ 4,709 คน โดยเป็นระดับ Pro License มากถึง 39 คน ที่สำคัญประเทศไทยยังได้รับรองจากสหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย หรือ AFC ให้สามารถเปิดอบรมโค้ชได้ตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับสูง โดยได้การรับรองเทียบเท่า AFC License
รวมทั้งยังเปิดอบรมผู้ตัดสินอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีผู้ตัดสินระดับ FIFA ELITE รวมแล้วถึง 7 คน (ชาย 4 คน/หญิง 3 คน), ผู้ช่วยผู้ตัดสินระดับ FIFA ELITE รวม 8 คน และผู้ตัดสินฟุตซอล ระดับ FIFA ELITE 3 คน
เมื่อทุกอย่างถูกลงมือทำจนเกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจน ยิ่งทำให้ฟุตบอลไทยได้รับความเชื่อใจจากองค์กรลูกหนังนานาชาติทั้ง FIFA และ AFC นำไปสู่โอกาสมากมายที่ตามมา
ทั้งการเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น งาน AFC Annual Awards ปี 2017 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศและชาติแรกในอาเซียนที่ได้รับเกียรตินี้, เป็นเจ้าภาพการประชุมใหญ่สามัญประจำปี FIFA Congress ครั้งที่ 74 ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ซึ่งจะมีคนฟุตบอลจากทั่วโลก 211 ชาติ เดินทางมาเข้าร่วม
ตลอดจนการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับเอเชีย อาทิ ฟุตบอลชิงเเชมป์เอเชีย รุ่น U-17 และ U-23, ฟุตบอลชายหาดชิงแชมป์เอเชีย 2023, ฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024 และรายการสำคัญๆ อีกมากมาย
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดจากความไว้วางใจจากผลงานที่พิสูจน์ให้เห็นมาตลอด 8 ปี ยังไม่นับรวมโครงการต่าง ๆ และเม็ดเงินสนับสนุนที่จะนำมาใช้พัฒนาฟุตบอลไทยต่อไปในอนาคตอีกมากมาย
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาภายใต้ยุคของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ฟุตบอลได้มีการพัฒนาไปมากนาดไหน
ในอนาคตเราจะมีนักฟุตบอล โค้ช ผู้ตัดสิน และบุคลากรทุกด้าน ที่มีคุณภาพก้าวขึ้นมาทดแทนอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
เมื่อมีตัวเลือกและมาตรฐานที่เพิ่มขึ้น ประตูแห่งความสำเร็จก็จะยิ่งเปิดกว้างมากขึ้น และไม่ว่าใครจะเข้ามารับไม้ต่อก็จะได้รับโครงสร้างและรากฐานอันแข็งแกร่งเหล่านี้ไว้ต่อยอดได้อย่างยั่งยืน
ที่มา: soccersuck