แทงหวย “แลมพ์” เผื่อถูกเลขท้าย 3 ตัว
ราวๆเกือบตี 1 ของช่วงคาบเกี่ยวระหว่างคืนวันพุธต่อพฤหัสที่ผ่านมามีข่าวที่ทำให้แฟน เชลซี ถึงกับต้องผงะสตั๊นไป 3 วิ.
นั่นคือทวิตเตอร์ของ “อ่อนเสถียร” ดีน ออร์นสตีน รายงานเป็นคนแรกว่า “สิงห์บลู” กำลังใกล้ปิดดีลดึง แฟร็งค์ แลมพาร์ด กลับมาคุมทีมคำรบที่ 2
รถผ้าป่าแฟนบอลคว่ำกันเป็นแถวเพราะก่อนหน้านั้นมีการเปิดประเด็นพูดกันถึง หลุยส์ เอ็นริเก้ และ ชูเลียน นาเกิ้ลส์มันน์ 2 กุนซือฝีมือดีกันอยู่เลย
ในความรู้สึก ณ ตอนนั้นสำหรับแฟนๆคือหนีเสือปะจระเข้ชัดๆ
จริงๆผมไม่อยากใช้คำว่าหนีเอดส์มาเจอมะเร็งแต่การกลับมากินน้ำพริกถ้วยเก่าที่เคยท้องเสียมาก่อนไม่ได้ทำให้เหล่าสาวก “สิงห์” รู้สึกดีขึ้นหลังปลดแอกจาก แกรห์ม พ็อตเตอร์
อีกนัยนึงคือทิศทางของ เชลซี ตอนนี้ดาว์นเกรดอย่างเต็มรูปแบบจากที่เคยมีบอสใหญ่ระดับท็อปอย่าง โธมัส ทูเคิ่ล ที่มีเวลาสร้างทีมไม่ถึง 8 เดือนดีด้วยซ้ำ
ครับ ถามว่าถ้าจะตั้ง แลมพ์ สู้ทนใช้ พ็อตเตอร์ ไปดีกว่าไหม อันนี้เป็นประโยคที่แฟนๆอยากบอก ท็อดด์ โบห์ลี่ ที่สุดแล้ว
มองกันดีๆการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้พวกเรื่องชื่อชั้นหรือฝีไม้ลายมือไม่ใช่ปัจจัยหลักของเสี่ย ท็อด แกเลย
แกให้โอกาส พ็อตเตอร์ ชนิดใจเย็นเกินเบอร์ด้วยซ้ำหากมองในมุมของนักลงทุนที่ซื้อสโมสรมาด้วยเงินกว่า 4 พันล้านปอนด์และอัดฉีดเสริมทัพเกือบๆอีก 300 ล้านปอนด์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
แต่ พ็อตเตอร์ ไม่มีความสามารถพอในการดึงศักยภาพทีม เชลซี ชุดนี้ได้อีกแล้ว การแพ้ แอสตัน วิลล่า หรือก่อนหน้านั้นเสมอทีมท้ายตารางอย่าง เอฟเวอร์ตัน ในบ้านตัวเอง 2 นัดติดคือการฟ้องอยู่โทนโท่ว่าทุกอย่างมันตันแล้ว
หากเทียบกับการเตะฟุตบอลในสนาม ในเมื่อตัวจริงเล่นไปตั้ง 60-70 นาทีแต่ทำอะไรไม่ได้เลย การส่งสำรองลงมาแม้ชื่อชั้นไม่ได้ดีกว่า (ไม่งั้นคงไม่นั่งสำรอง) อย่างน้อยสถานการณ์อาจเหมาะกับคนสไตล์นั้นๆมากกว่าก็ได้
เปลี่ยนเพื่อหวังว่าจะมีอะไรดีขึ้น พูดง่ายๆคือยอมไปตายเอาดาบหน้าดีกว่า
แม้กระทั่ง แลมพาร์ด เองยังยอมรับว่า “ตกใจ” ที่ เชลซี ติดต่อมา
หากถามว่าระดับเสี่ย ท็อดด์ หาผู้จัดการทีมที่ดีกว่า แลมพ์ ได้ไหม คือมันได้อยู่แล้วแต่ timing ต่างหากที่ไม่มีใครอยากมารับเผือกร้อนที่ว่านี้
ช่วงเข้าสู่เมษายนหรืออีก 2 เดือนก่อนจบฤดูกาลรอเวลาอีกนิดหน่อยเพื่อพิจารณาโดยไม่ต้อง panic น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
คนใหม่ถ้าจะมาตอนนี้ไม่มีเวลาสอนแท็คติกส์ในรูปแบบของตัวเองให้ซึมซับแน่นอน
ส่วน เชลซี เองก็ควรมีเวลาให้แคนดิเดตร่างโปรเจคสร้างทีมนำเสนอเพื่อพิจารณาอย่างละเอียด หาใช่รีบร้อนฉีกสัญญาเหมือนในรายของ พ็อตเตอร์
เอ็นริกเก้ หรือ นาเกิ้ลส์มันน์ ที่เป็นข่าวอยู่ตอนนี้ เขาเอง (ถ้าจะมาจริงๆ) ก็อยากมีเวลาเตรียมความพร้อมช่วงปรีซีซั่นเต็มๆมากกว่าแบกรับความกดดันสุ่มเสี่ยงให้การทำงานมันยากเข้าไปอีก
ดังนั้น ณ ช่วงเวลานี้ผู้จัดการทีมที่เป็นคนเคยๆและพร้อม say yes ในสถานการณ์เช่นนี้ไม่มีใครดีไปกว่า แลมพ์ อีกแล้วครับ
ถ้าเทียบกันฝีมือไม่ได้ดีกว่า พ็อตเตอร์ อยู่แล้วครับแต่จับพลัดจับพลู “คลิก” ขึ้นมาก็เหมือนแทงหวยกันไป
บารมีสมัยเป็นผู้เล่นของ แลมพ์ อย่างไรเสียก็กินขาด พ็อตเตอร์ อาจช่วยปลุกผี ราฮีม, เมาท์ หรือคนอื่นๆที่ฟอร์มตกก็เป็นได้ใครจะรู้
ถึงอย่างไร Passion คือสิ่งที่ เชลซี ต้องการที่สุดไม่แพ้กัน
เชื่อได้เลยว่าการกอด-อกยืนดูลูกทีมปะทะเดือดกับผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามสุดชิวแบบที่ พ็อตเตอร์ เคยทำจะไม่มีทางเกิดขึ้นกับ แลมพ์ อย่างแน่นอน
แม้ในความเป็นจริง แลมพ์ ในวัย 44 ปีเคยถลุงเงินของ “อากู๋” โรมัน อับราโมวิช ไปกว่า 200 ล้านปอนด์แต่ทรงบอลกลับกลวงจัด
ตอนนั้น ติโม แวร์เนอร์ เป็นส่วนหนึ่งของความล้มเหลวที่พากันลงเหวทั้งคู่ ฤดูกาลแรกในพรีเมียร์ลีกอดีตหอก อาร์แบ ไลปซิก ยิงไปแค่ 6 ลูก
สถานการณ์นี้คล้ายๆกับที่ ไค ฮาแวรตส์ เป็นอยู่คือใช้โอกาสเปลือง โอกาสจะๆสวยๆกลับยิงนกตกปลายิงแป๊กจน พ็อตเตอร์ ชะตาขาด
บวกกับเป็นกุนซือหน้าใหม่ที่ไม่มีแท็คติกส์, ขาดความรอบรู้, ไหวพริบในการแก้เกมสดหน้างาน ทำให้รูปแบบการเล่นของ แลมพ์ ไม่มีจินตนาการซึ่งสวนทางกับสมัยที่เล่นเป็นมิดฟิลด์สร้างสรรค์เกม
เชลซี ในยุค แลมพ์ จึงเป็นบอลหน้าเดียว ออกปีกครอสๆๆๆ กลายเป็นบอลถูกจับทางง่าย
ไซม่อน จอร์แดน นักวิจารณ์ฝีปากกล้านิยามการจ้าง แลมพาร์ด ของ เสี่ยท็อดด์ คือจิ้มเลือกแบบคนขี้เกียจหา ฮาา
โดยส่วนตัวผมคิดว่า “สิงห์” ต้องการคนที่เข้ามากำหนดการเล่นของนักเตะที่ชัดเจนและเป็นรูปแบบมากกว่านี้
นักเตะระดับโลกมีเซนส์บอลกันทุกคนอยู่แล้วแต่การชี้ชัดหน้าที่และวิธีการเล่นคือสิ่งที่จะทำให้ทุกคนเล่นร่วมกันและผลงานออกมาดีในคราวเดียวกัน
อย่างไรก็ตามแม้ยังมองว่า แลมพ์ มือยังไม่ถึงชั้นคุมทีมใหญ่แต่ผมขอเปิดทางลงให้แกอีกนิดหน่อย
เนื่องจากในโลกฟุตบอลไม่ว่านักเตะหรือผู้จัดการทีมมักไปได้สวยเมื่ออยู่ในสถานะลูกจ้าง “ชั่วคราว”
ผมคาดเดาและวิเคราะห์แบบกำปั้นทุบดินปิดท้ายแบบนี้เลยละกันครับ…
ที่มา: soccersuck