ACL สวรรค์สำหรับคนไม่เคยเจ็บ
พรีเมียร์ลีกเพิ่งเปิดฤดูกาลให้แฟนๆได้ลุ้นแค่นัดเดียวแต่มีนักฟุตบอลเจ็บหนักกันไปแล้วมากหน้าหลายตา
นำโดย ยูเรี่ยน ทิมเบอร์ กองหลังตัวใหม่ของ อาร์เซนอล ที่ปรับตัวไวจัดแต่เอ็นไขว้หน้าหรือ ACL มาพรากตัวความหวังของเดอะ กูนเนอร์ ไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่นัดเปิดตัว
ในขณะที่ฝั่งสนาม เซนต์ เจมส์ พาร์ค…ไมรอน มิงส์ ของ แอสตัน วิลล่า วิ่งๆอยู่เสียหลักเจ็บเองถึงขั้นลงเปล
เกมกับ ฟอเรสต์ ทาง ทิมเบอร์ ยังเดินออกเองได้และอาจยังพอมีลุ้นกลับมาช่วงท้ายๆฤดูกาลแต่ในรายของ มิงส์ สื่อผู้ดีเชื่อว่า “ปิดเทอม” ไปเรียบร้อยแล้ว
ก่อนหน้านั้น เวสลีย์ โฟฟาน่า ของ เชลซี ก็เรียบร้อยตั้งแต่ปรีซีซั่นเพราะ ACL เช่นกัน
เอ็นไขว้มาเยี่ยมคุณเมื่อไหร่ 7-8 เดือนนี่คืออย่างต่ำและกว่าจะเข้าที่ไม่ว่าจะเป็นความฟิตหรือ match fitness รวมถึงเลิก “แหยง” กระบวนการพวกนี้กินเวลาเกินปีแน่นอนกว่าจะเข้าที่
เหตุที่ “เส้นเอ็น” ใช้เวลาฟื้นฟูนานก็เพราะโดยปกติที่เราเห็นเอ็นเป็นสีขาวเพราะมีหลอดเลือดมาเลี้ยงน้อยแต่กล้ามเนื้อมัดๆกลับมีสีแดงเพราะเส้นเลือดฝอยเลี้ยงเยอะ การนำสารอาหารและซ่อมแซมเนื้อเยื่อจึงช้ากว่า
ไม่ว่านักกีฬาอาชีพหรือคนที่เล่นกีฬาเพื่อสันทนาการอย่างพวกเราๆท่านๆ การที่ไม่เคยต้องประสบพบเจอกับอาการเจ็บไอ้เจ้าโรคยอดฮิตอย่าง ACL ผมบอกได้เลยว่าโคตรโชคดีอย่างที่สุด
ในฐานะผู้ที่เคยโชคร้าย ACL ขาดในการเล่นฟุตซอลเมื่อปี 2018 มันช่างแสนทรมานจริงๆ
ผมเป็นคนที่เล่นบอลไม่ชอบเข้าปะทะ เราไม่มีเดิมพันใดๆเหมือนนักฟุตบอลอาชีพ เรายังต้องมีความรับผิดชอบในส่วนอื่นๆของชีวิตอีกเยอะ
แต่ท้ายที่สุดมาตกม้าตายด้วยการกระโดดเกี่ยวบอลที่เลยเกินระยะแต่ฝืนจนเสียบาลานซ์กลางอากาศ (ตัวเอียง) พอตอนแลนดิ้งขาซ้ายลงพื้นโดยที่เราไม่ได้เตรียมพร้อมว่ามันจะลงท่าที่งอและตัวเอียง
ซึ่งเป็นท่าต้องห้ามในการเล่นกีฬา!!
ความเจ็บครั้งนี้อธิบายไม่ถูกและเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่านั่นคืออาการเอ็นไขว้หน้าขาด ความรุนแรงในการเจ็บแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนมีเสียงลั่นในข้อเหมือนมีอะไรดีดอยู่ข้างใน เข่าบวมทันที (เพราะมีเลือดออกในเข่า)
แต่ผมไม่บวม ไม่มีเสียงลั่นในข้อแต่เจ็บฉิบหาย เหมือนมีค้อนมาทุบ ต้องนอนบิดโอดโอยอยู่พักใหญ่ก่อนเดินกระเผลกขี่มอไซด์กลับบ้าน
ตลกไปกว่านั้นคือผมต้องไปหาหมอถึง 3 โรงพยาบาลถึงรู้ว่า ACL ขาด 100% เพราะที่แรกบอกแค่ “ฉีก” (สามารถสมานหายเองได้ หมอว่างั้นนะ), ที่ 2 บอก “ขาด” จึงต้องไปหาเปาปุ้นจิ้นให้มันเอกฉันท์
นายแพทย์ ชนินทร์ ล่ำซำ อดีตทีมแพทย์ทีมชาติไทยชุดเอเชี่ยนเกมส์และมือ 1 ในด้านเอ็นไขว้ให้ขึ้นไปนอนเขย่าๆ 2 ทีบอกขาดไม่เหลือ
คำถามคือถ้าคุณไม่ผ่าจะเกิดอะไรขึ้น?
ใช้ชีวิตได้ปกติเลยครับ ผมยังเคยกระโดดขาเดียวโชว์หมอมาแล้วแถมเคยวิ่งแบบลืมตัวตอนบุรุษไปรษณีย์มากดกริ่งหน้าบ้านหรือจะออกกำลังกายเดินไว, วิ่งเป็นเส้นตรง ทำอะไรในชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิมเลย
หมอเคยบอกว่ากล้ามเนื้อต้นขาที่แข็งแรงมีส่วนสำคัญในการช่วยพยุงให้สามารถทำอะไรได้ปกติแต่เมื่อใดก็ตามที่ต้อง change direction หรือเปลี่ยนทิศทางคือเจ็บและล้มทุกราย
ไม่ต้องอะไรมากแค่ผมยกถังน้ำแล้วกลับตัวโดยใช้ขาซ้ายเป็นตัว turn ล้มทั้งยืนและแน่นอนเข่าจากที่ไม่ปวดแล้วกลับมาปวดอีกทันที
สำหรับคนที่ ACL ขาดและเลือกไม่ผ่า ในระยะยาว “หมอนรองกระดูก” จะมีปัญหาด้วยครับเพราะโดยส่วนใหญ่ถ้าเอ็นไขว้หน้าขาดหมอนรองเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หมอนรองกระดูกก็เหมือนตัว “ซัพ” บางๆระหว่างกระดูกต้นขากับกระดูกหน้าแข้งไม่ให้ชนกันเพราะถ้าสึกหรอจนกระดูกปะทะกันนี่แสบถึงทรวง เหมือนที่คนแก่ชอบร้องโอดโอยเวลาหน้าหนาวประมาณนั้นเลย
ผมเลือก “ผ่า” เพราะยังอยากกลับมาเตะบอลต่อ ชีวิตขาดผู้หญิงได้แต่ขาดฟุตบอลไม่ได้จริงๆ
ในการผ่าเอ็นไขว้ หมอจะให้คุณเลือกว่าจะเอาเอ็นส่วนไหนมาทดแทน มี “เอ็นสะบ้า” (ตรงหัวเข่าที่แข็งๆจะมีเอ็นแผ่นใหญ่ๆคอยบัง ACL อยู่อีกชั้น) และเอ็นแฮมสตริงด้านข้างของต้นขา
ข้อดีข้อเสียต่างกันคือถ้าเอาเอ็นสะบ้ามาแทนจะฟื้นตัวไวกว่าเพราะการ “ลอก” เอ็นสะบ้าออกมาจะมีเศษกระดูกเข่าติดมาด้วยจะยิ่งทำให้สมานติดได้เร็วขึ้น
ที่สำคัญการเข้าปะทะหนักๆ “เอ็นสะบ้า” จะต้านทานได้ดีกว่า
แต่ข้อเสียคือจะคุกเข่าไม่ได้ตลอดชีวิตแต่ผมคุกได้นะ ท่านี่สำคัญต่อชีวิตผมเลย (ไหว้พระ)
ในขณะที่เอ็นแฮมสตริงจะเป็นที่นิยมของเหล่าสตรี (“นิหน่า” ก็ใช้เอ็นแฮมฯ) เหตุผลง่ายๆคือมันจะไม่ทิ้งแผลผ่าตัดตรงหัวเข่าซึ่งผู้หญิงเขารักสวยรักงามไม่อยากมีตำหนิ
ว่ากันว่าข้อเสียของการใช้เอ็นแฮมตริงคือจะทำให้ความเร็วลดลง (ไม่มีการยืนยัน)
ดังนั้นนักฟุตบอลที่ผ่าเอ็นไขว้ล้วนแล้วจะมีแผลที่เหมือนกันตรงหัวเข่าคือแผลลากยาวที่ผ่าเปิดทางเพื่อเอาเอ็นสะบ้าออกมาส่วนนึง (1 ใน3)และแผล 2 จุดที่ใช้ในการส่องกล้อง
การร้อยเอ็นใส่เข้าไปจะใช้ตัวยึด 2 ฝั่งให้ติดกันด้วย “น็อตพิเศษ” ที่ 1 ปีให้หลังมันจะสลายไปเองซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้นเอ็นจะถูกกระดูกสมานยึดเป็นส่วนหนึ่งเอาไว้เรียบร้อยแล้ว
ตอนผ่าไม่เท่าไหร่ครับ ไม่เจ็บเลยเพราะยาช้าช่วยเอาไว้แต่หลังผ่าเสร็จช่วงแรกๆตัวสั่นเพราะหนาวจากฤทธิ์ยาและต่อมาที่แน่ๆคือเข่าจะปวดมากๆแค่ขยับนิดเดียว
ซ้ำร้ายทำให้ท่อนล่างไม่รู้สึกตัวไปหลายชั่วโมง ฉี่ไม่ออกครับ เข้าใจหัวอกคนพี่น้องผู้พิการท่อนล่างแล้วว่ามันเป็นยังไง เบ่งเท่าไหร่ก็ไม่ออกมันทำไม่ได้ ผมฉี่ครั้งสุดท้ายก่อนผ่า 11 โมง มาฉี่ออกอีกทีตอนตี 5-6 โมงของอีกวัน
เรียกว่าจะนอนก็นอนไม่ได้เพราะมันปวดท้องมากๆ อารมณ์กลั้นฉี่ไว้จนสุดๆแต่ฉี่ไม่ได้ ใจก็ไม่อยากให้พยาบาลสาวมาเปิดหำ
พยาบาลเดินมาบอกผมตอนตี 3 (ก่อนเบ่งจนออก 2 ชม.) ว่าถ้าอีกพักยังไม่ฉี่ต้องสวนแล้วนะคะ
ผมเป็นพวกส่วนน้อยครับเพราะโดยส่วนใหญ่จะถูกเอาท่อมาสวนรูปัสสาวะซึ่งร้อยทั้งร้อยพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเจ็บกว่าตอนผ่านไม่รู้กี่เท่า เจ็บแบบโคตรๆน้ำตาไหล
ดังนั้นแน่นำว่าใครมีแผนจะผ่าพยายามกินน้ำให้น้อยที่สุดหรือถ้าคิดว่าอดทนกับการ “สวน” ได้ก็ปล่อยล้อฟรีเลยครับ
แต่โดยส่วนตัวผมอายด้วยแหละครับ ที่ต้องให้ใครมาเห็นกระเจี๊ยวตัวเองแถมพยาบาลหน้าตาน่ารักด้วย จึงรวบรวมจิตใจและความอึดเบ่งจนออก คอมฟอร์ทเกือบล้น!!
ในส่วนของการฟื้นฟูสภาพร่างกายเรียกว่าแทบจะทำทันทีหลังผ่าเลยก็ว่าได้
ผมผ่ายังไม่ถึงวันดีหมอก็นำคู่มือการกายภาพมาให้แล้ว เขาจะประเมินให้คนไข้ลองงอเข่า ใครงอได้เยอะก็จะจัดโปรแกรมให้ทันที ผมดันงอซะเยอะเลยโดนเลย
ผมผ่าช่วงปีใหม่ 2019 จากนั้นเข้ายิมเน้นปั่นจักรยานกับเครื่องเดินวงรีสลับวันเล่น “สคว้อท” ที่ยกดัมเบลล์เป็นตัวกดน้ำหนักอีกชั้นนึงด้วย
ทำทุกวันห้ามเบี้ยวก่อนจะเริ่มกลับมาเล่นบอลโดยเป็นผู้รักษาประตูในอีก 10 เดือนต่อมา
ถามว่าทุกวันนี้เข่าเหมือนเดิมไหม?
ไม่มีทางเหมือนเดิมครับ เหมือนมีหมากฝรั่งแปะอยู่ที่หัวเข่าตลอดเวลา เดินแล้วไม่แน่นเท่าข้างที่ปกติ การวิ่งการพลิกบอลก็จะมีอะไรสะกิดเตือนในหัวตลอด เราจึงเล่นได้ไม่เต็ม 100
ปัจจุบันอาการแหยงหายไปแล้วแต่ต้องระวังให้มากขึ้นเพราะอย่าลืมว่าตอนที่เจ็บหรือหายกลับมาเราจะพยายามเลี่ยงการใช้ข้างที่เจ็บโดยธรรมชาติ นั่นหมายความว่าอีกข้างจะรับภาระหนักมากๆ
เอาง่ายๆตอนขึ้นลงบันไดผมเอาขาขวาลงก่อนตลอด (เพราะผ่าข้างซ้ายมา) มันเป็นเองโดยธรรมชาติ กว่าจะเริ่มเอาซ้ายลงเองก็ปาไป 2-3 ปี
การเลี่ยงการใช้งานตามสัญชาตญาณที่ว่านี้ทำให้กล้ามเนื้อขาข้างที่ผ่าจะเล็กและลีบกว่าอีกข้าง (ถ้าเพ่งและมองดีๆ) ต้องพยายามเวทเรียกมันกลับมาให้บาลานซ์กับอีกข้าง
นี่แค่เป็นกระบวนการของคนปกติอย่างผมนะครับ นักฟุตบอลอาชีพมีตารางฟื้นฟูโหดกว่านี้ไม่รู้กี่เท่า
ผมอยากให้กำลังใจนักบอลที่เจ็บนะแต่เขาอ่านภาษาไทยไม่ออก เอาเป็นว่าฝากแฟนบอลทุกๆทีมไว้ตรงนี้
ถ้าถึงวันที่ ทิมเบอร์, มิงส์ หรือ โฟฟาน่า คัมแบ็คกลับมาเราควรซัพพอร์ตและให้เวลาพวกเขามากเป็นพิเศษหน่อย
สิ่งเล็กๆน้อยๆแค่นี้ก็เป็นกำลังใจสำหรับเหยื่อ ACL มากๆแล้วครับ…
ที่มา: soccersuck