ETH เดบิวต์แชมป์ เปิดทางผียุคใหม่
บรรทัดแรกสุดขอร่วมสดุดีต่อสาวก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับการปลดล็อกแชมป์แรกในรอบ 6 ปีหลังคว่ำ นิวคาสเซิ่ล คว้าแชมป์ คาราบาว คัพ 2-0
ผมยังยืนยันคำเดิมว่าฝีเท้าและคุณภาพของ “ปีศาจแดง” นับตั้งแต่จบบอลโลกถ้าไม่มีอะไรติดไม้ติดมือในฤดูกาลนี้คงยากที่จะนอนตายตาหลับ
การนับ 1 ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ของสโมสรแต่เป็นการ debut อันสวยหรู ของ เอริค เทน ฮาก ที่สร้างบารมีให้ตัวเองตั้งแต่ปีแรกไปเรียบร้อยแล้ว
แม้เป็นถ้วยเล็กสุดในเกาะอังกฤษแต่ด้วยความที่ ณ เวลานี้มีผู้ท้าชิงแย่งความสำเร็จทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย 7-8 ทีมมันจึงมีความสำคัญต่อทิศทางการสร้างทีมอย่างไม่ต้องสงสัย
ชนะของ ยูไนเต็ด ครั้งนี้นักเตะมากประสบการณ์อย่าง คาเซมิโร่ หรือ วาราน รวมทั้งนักเตะซีเนียร์อย่าง บรูโน่, เฟร็ด และ ชอว์ ฯลฯ เล่นมีประสิทธิภาพเหมาะกับเกมนัดเดียวรู้เรื่องมากกว่าฝั่ง นิวคาสเซิ่ล
ในเรื่องใจไม่มีใครเถียงว่า “สาลิกา” ไม่เป็นรองอยู่แล้วแต่การสูญเสียสมาธิจากการเล่นนอกเกมก็ดี, การเล่นบอลหวือหวาแต่สร้างโอกาสไม่ได้ก็ดี สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาพ่ายแพ้ศึกครั้งนี้
ในขณะเดียวกันการเสียฟาว์ลโง่ๆแบบไม่จำเป็นเป็นใบเบิกทางที่นำมาสู่ฟรีคิกของ ลุค ชอว์ และเป็นประตู 1-0 ของ คาเซมิโร่
การได้ลูกที่ 2 ภายใน 6 นาทีเป็นการเล่นบอลน้อยจังหวะทะลุถึงประตูอย่างรวดเร็วก่อน แรชฟอร์ด ยิงแฉลบ
เกม 0-0 คือแท็คติกส์ที่ นิวคาสเซิ่ล ถนัดที่สุดกับบรรดาสารพัดแท็คติกส์ที่นักเตะรู้ดีว่าควรทำอย่างไรแต่ไม่ใช่กับการตามหลังฝ่ายตรงข้าม
ถามว่า อัลแล็ง แซงต์-มักซิแม็ง น่ากลัวไหม น่ากลัว ป่วนไหม ป่วน แต่การเอาบอลยึกยักไว้กับตัวนานผิดปกติมันไม่เกิดประโยชน์ ไม่สามารถเปิดให้เพื่อนที่วิ่งเข้าเขตโทษ
กล่าวคือโชว์ลีลาเสร็จแล้วก็หมดหน้าที่ จ่ายคืนให้เพื่อนไปถ่ายบอลต่อ กลายเป็นดีเลย์เกมตัวเอง
ผิดกับพวก บรูโน่ หรือ แรช (ยกเว้น แอนโทนี่ ไว้ให้คนนึง) ที่เล่นบอลหวังผลและจมูกไวสายตาไวกว่าชัดเจน
ผมกลับชอบ อีซัค ที่ลงมาในครึ่งหลังและใช้ความสามารถเฉพาะตัวความพลิ้วเพื่อสร้างเกมให้เพื่อนในตำแหน่งที่ดีกว่า เกมลื่นกว่า
แต่การตามหลัง 2 ลูกและเราต้องไม่ลืมความจริงข้อนึงด้วยว่า “สาลิกา” มีปัญหาการยิงประตูในลีกมานานแล้ว
สถิติ 7 นัดหลังในพรีเมียร์ลีกลูกทีมของ เอ็ดดี้ ฮาว ยิงได้แค่ 3 ลูก คือหลังเหนียวจริงไม่มีใครเถียงแต่ผ่านไปครึ่งชั่วโมงเศษๆโดนไป 2 เม็ดกลายเป็นบอลใช้อารมณ์ มันยิ่งยากกว่าเดิม
การจะก้าวขึ้นมาหยิบจับแชมป์อะไรซักอย่างมันมีความเสี่ยงเสมอเพราะขึ้นที่สูงพอตกทีนึงมันเจ็บ กว่าจะ heal ให้หายใช้เวลาพอสมควร สำคัญตรงที่ว่าคุณพร้อมจะลุกขึ้นกลับมารับความเสี่ยงแบบนี้อีกไหม
หากเรามองที่ว่า “สาลิกา” เคยเกือบตกชั้นเมื่อซีซั่นที่แล้วแต่อัตราการถีบตัวสูงแบบก้าวกระโดดถึงรองแชมป์ คาราบาว คัพ และยังติดอยู่ในกลุ่มไป UCL เป็นการส่งสัญญาณว่าสิ่งที่สโมรทำอยู่เดินมาถูกทางแล้ว
การมีแฟนบอล support ไม่ว่าจะช่วงเวลาไหนคือแรงผลักดันที่สำคัญเอามากๆ ผมเชื่อว่า “ทูนอาร์มี่” ไม่มีใครตำหนินักเตะตัวเองเพราะสิ่งที่แสดงออกจากการเล่นในวันนี้มันชัดเจนว่าสู้เต็มที่แล้ว
สิ่งที่พวกเขาตอบแทนได้นอกจากเสียงเชียร์อันกึกก้องแล้ว ภาพที่โคตร “ขนลุก” คือการร่วมใจกันโบกธงขาวดำในช่วงเวลาทดเจ็บที่ทีมแพ้แน่ๆแล้ว
แชมป์เมเจอร์แรกของ นิวคาสเซิ่ล ยังต้องคอยกันต่อไปหลังรอมานานกว่า 54 ปีหลังได้ครั้งสุดท้ายคือ Fairs Cup เมื่อปี 1969
ที่น่าตลกคือ เดอะ แม็กพายส์ เคยเกือบปลดล็อกตั้งแต่ปี 1999 แต่แพ้ แมนฯยูฯ ทีมเดิมสกอร์เดิมแต่เป็นในรายการ เอฟเอ คัพ
มัลติเวิร์สของ แมนฯยูฯ ต่างจาก นิวคาสเซิ่ล ตรงที่ปลดล็อกแชมป์ทั้งๆที่ต้นฤดูกาลและก่อนบอลโลกพวกเขาเจอมรสุมลูกใหญ่กับดราม่า คริสติอาโน่ โรนัลโด้ นักเตะทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ดึงสโมสรให้ดูแย่ในสายตาคนนอก
การ “รีฟอร์ม” เรียกสปิริตกลับมาของ ETH และเสริมทัพเพียงไม่กี่ตำแหน่งโดยบางคนเรียกว่าเป็นการแก้ผ้าเอาหน้ารอดเป็นการชั่วคราว
แต่อดีตบอส อาแย็กซ์ ที่มีความเด็ดขาดในการจัดตัวเน้นที่ฟอร์มไม่ใช่ชื่อเสียงสามารถหาแท็คติกส์ที่ลงตัว นักเตะรู้แล้วว่าใครต้องเล่นอย่างไรและมีหน้าที่อะไรบ้าง ผลงาน 2 เดือนหลังสุดคือหลักฐานชิ้นสำคัญ
การเรียกสปิริตทีมกลับมาพร้อมๆกับแชมป์ คาราบาว คัพ ตอกย้ำความจริงที่ว่าไม่ว่าใครจะอยู่ใครจะไปตัวสโมสรยังตากแดดตากฝนยืนตั้งอยู่ที่เดิมเสมอ
หลังจบฤดูกาลนี้ขุมกำลัง “ปีศาจแดง” ในมือของ เทน ฮาก ที่มีอำนาจต่อรอง โน้มนาวนักเตะเกรด A จากการจ่อคัมแบ์ค UCL จะโหดขนาดไหนบอกตามตรงผมไม่กล้าคิดเลยครับ…
สถิติ สถิติ สถิติ
แมนฯยูฯ คว้าแชมป์เมเจอร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่คว้า ยูโรป้า ลีก เมื่อปี 2017 ยุติการรอคอยแชมป์ที่ยาวนานกว่า 5 ปีกับอีก 278 วันซึ่งเป็นตัวเลขการรอคอยที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 1983 ซึ่ง ณ เวลานั้นพวกเขาปลดล็อกคว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ ซึ่งเป็นโทรฟีย์แรกในรอบ 6 ปีกับอีก 5 วันหลังก่อนหน้านั้นเกียรติยศสุดท้ายคือ เอฟเอ คัพ ปี 1977
“ปีศาจแดง” คว้าแชมป์ ลีก คัพ เป็นสมัยที่ 6 ตามหลัง ลิเวอร์พูล (9), แมนฯซิตี้ (8)
– คาเซมิโร่ เป็นเจ้าพ่อรอบชิงอย่างแท้จริงหลังกวาดทุกแชมป์ที่ลงเล่นใน 9 เกม final ทั้งหมด
– 4 แชมป์ UCL
– 3 แชมป์สโมสรโลก
– 1 แชมป์โคปา เดลเรย์
– 1 แชมป์ลีก คัพ
นอกจากนี้ คาเซมิโร่ ยิง 4 ประตูใน 12 เกมหลังสุดในทุกรายการซึ่งถือว่าเข้าฝักสุดๆเพราะก่อนหน้านี้ลงเล่นมากถึง 89 นัดยิงได้แค่ 3 ประตูเท่านั้น
แม้ลงมาในครึ่งหลังแต่ อารอน วาน บิสซาก้า กลายเป็นนักเตะที่เข้าสกัดมาที่สุดในสนาม (7 ครั้งใน 45 นาที) นับเป็นนักเตะคนแรกที่เข้าสกัดในรอบชิง ลีก คัพ มากที่สุดนับตั้งแต่ เอ็นโกโล่ ก็องเต้ เคยทำไว้กับ เชลซี เมื่อปี 2019 (7 ครั้งใน 120 นาที)
นิวคาสเซิ่ล สุดเศร้าแพ้รวด 9 นัดหลังที่ลงเล่นใน เวมบลีย์โดยสถิติเริ่มต้นในเกม เอฟเอ คัพ รอบชิงปี 1974 และพวกเขาเป็นเจ้าของการแพ้ที่สนามแห่งนี้ยาวนานที่สุดไปแล้ว
นอกจากนี้ “สาลิกา” ยังแพ้รอบชิง ลีก คัพ 2 ครั้ง (ครั้งแรก 1976) ทำให้พวกเขากลายเป็น 1 ใน 6 ทีมที่เข้าขิง ลีก คัพ มากกว่า 1 ครั้งแต่ไม่สามารถคว้าแชมป์ได้ (อีก 5 ทีมคือ โบลตัน, เอฟเวอร์ตัน, เซาธ์แฮมป์ตัน, ซันเดอร์แลนด์ และ เวสต์แฮม)
สเวน บอสมัน เป็นเพียงนักเตะคนที่ 4 ที่ทำเข้าประตูตัวเองในรอบชิง ลีก คัพ โดยก่อนหน้านั้น 3 คนคือ โรเจอร์ เคนยอน (1977), กอร์ดอน คริสโฮล์ม (1985) และ สตีเฟ่น เจอร์ราร์ด (2005)
ลอริส คาริอุส ลงเล่นนัดแรกนับตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2021 ให้ ยูนิโอน เบอร์ลิน ในศึกบุนเดสลีกาเมื่อ 728 วันที่แล้ว
ที่มา: soccersuck