เบื้องหลัง บอลโมร็อกโก ไปบอลโลก ความสำเร็จจากความกล้าและการลงทุน

#SSxKMD | โมร็อกโกเป็นความหวังเดียวที่เหลืออยู่ของทวีปแอฟริกาที่จะเข้ารอบควอเตอร์ไฟนัลหลังจากเซเนกัลแพ้อังกฤษ 0-3 โดย “แอตลาส ไลออนส์” มีคิวดวลสตั๊ดกับสเปนสี่ทุ่มวันนี้

โมร็อกโกผ่านรอบแบ่งกลุ่มมาแล้วครั้งหนึ่งและแพ้เยอรมนี 0-1 รอบ 16 ทีมของเวิลด์คัพ 1986 พวกเขาเคยเจอสเปนในเวิลด์คัพ 2018 รอบแบ่งกลุ่ม มีโอกาสขึ้นนำสองครั้งก่อนเสมอ 2-2 อีกทั้งแอฟริกาแพ้ยุโรป 9 จากทั้งหมด 10 ครั้งในรอบน็อคเอาท์ ยกเว้นรอบสองปี 2002 ที่เซเนกัลชนะสวีเดน

โมร็อกโกเข้ามาเล่นฟุตบอลโลกทั้งหมด 6 ครั้งในปี 1970, 1986, 1994, 1998, 2018, 2022 มากเป็นอันดับ 2 ของชาติแอฟริกา เท่ากับตูนิเซียและไนจีเรีย สถิติเป็นรองเพียง 8 ครั้งของแคเมอรูน แต่การได้ตั๋วมากาตาร์ครั้งนี้ สหพันธ์ฟุตบอลรอยัลโมร็อกโกมีบทบาทสำคัญที่ช่วยพลักดันให้ “บอลโมร็อกโก…ไปบอลโลก” เกิดขึ้นจริง ซึ่งอัชเชอร์ โกมูกีชา นักข่าวหญิงผู้เชี่ยวชาญฟุตบอลกาฬทวีป ให้สัมภาษณ์หลายแง่มุมที่น่าสนใจกับสกายสปอร์ตส์ โดยเธอเกริ่นว่า “ความสำเร็จของโมร็อกโกไม่ได้ตกมาจากท้องฟ้า” และ “สหพันธ์ฯอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ”

โกมูกีชาย้อนไปแอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ 2021 ที่แข่งเมื่อต้นปีนี้ โมร็อกโกแพ้อียิปต์ 1-2 ในรอบแปดทีมสุดท้ายทั้งที่สิงโตแห่งแอตลาสมีผู้เล่นเหนือกว่าแต่ปัญหาคือสภาพจิตใจที่เป็นอุปสรรค เธอเห็น “ความกลัว” อยู่ในตัวนักเตะโมร็อกโก ตอนนั้นวาฮิด ฮาลิฮอดซิช กุนซือชาวบอสเนีย รับผิดชอบทีม แต่เขาอนุรักษ์นิยมเพลย์เซฟมากแม้มีตัวรุกหลายคน

การเปลี่ยนแปลงสำคัญคือโมร็อกโกเปลี่ยนตัวหัวน้าโค้ช การเล่นของทีมไม่ได้ไหลลื่นอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ เป็นการตัดสินใจที่ลำบากใจมากของสหพันธ์ฯที่ต้องไล่ฮาลิฮอดซิชเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประธานสหพันธ์ฯตกอยู่ภายใต้แรงกดดันหลังจากโมร็อกโกแพ้สหรัฐ 0-3 ในเกมอุ่นเครื่อง ทีมเล่นได้แย่มากและจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่าง

วันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา สหพันธ์ฯประกาศแต่งตั้ง วาลิด เรกรากุย อดีตแบ็คขวาทีมชาติโมร็อกโกวัย 47 ปี เป็นหัวหน้าโค้ชคนใหม่

เวิลด์คัพที่กาตาร์เป็นฟุตบอลโลกครั้งแรกที่ทั้งห้าชาติแอฟริกามีเฮดโค้ชเป็นชาวแอฟริกัน ซึ่งโกมูกีชามองว่าข้อดีคือ พวกเขาเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศดี และรู้ว่าอะไรจะช่วยให้ทีมคว้าชัยชนะ เรกรากุยก็เป็นหนึ่งในนั้น ทั้งที่ร่วมงานกับนักเตะแค่ 3-4 เดือนกับแมตช์กระชับมิตรเท่านั้น

คีย์ที่เรกรากุยทำหลังรับงานคือดึง “ฮาคิม ซิเย็ค” กลับมาเล่นให้ทีมชาติหลังจากหลุดวงโคจรยุคฮาลิฮอดซิชและไม่ได้เล่นแอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ เขาให้คำมั่นว่าซิเย็คเป็นศูนย์กลางแผนการทำทีม โดยเกมสำคัญชนะแคนาดา 2-1 ปีกขวาวัย 29 ทำประตูแรกในบอลโลกได้ ซิเย็คมีอิทธิพลต่อโมร็อกโก จ่ายบอลเข้าเขตโทษ 17 ครั้ง, สร้างโอกาส 7 ครั้ง, ครองบอล 43 ครั้ง และทำระยะรวมจากการครองบอล 477.6 เมตร

แต่โมร็อกโกไม่ได้พึ่งซิเย็คแค่คนเดียว แต่ยังมี “ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี” ศูนย์หน้าในระบบ 4-3-3 เขาเป็นนักเตะสิงโตแอตลาสคนแรกที่ทำสกอร์ในเวิลด์คัพ 2 สมัย รวมถึง “ยาสซีน บูนู” นายทวารมือหนึ่งของเซบียา ซึ่งได้รับโหวตให้เป็นผู้รักษาประตูที่ดีที่สุดในลา ลีกา และก่อนหน้านาเยฟ อาเกิร์ด ทำลูกเข้าประตูตัวเองในเกมกับแคนาดา ลูกทีมของเรกรากุยยังไม่เคยเสียประตูให้ทีมไหนเลย

โกมูกีชาให้ความเห็นว่า โมร็อกโกมีการจัดระเบียบเกมรับที่ดีและแข็งแกร่ง พวกเขาไม่เสียประตูง่ายๆ กองหลังอย่าง “อาชราฟ ฮาคิมี” ไม่ได้มีแค่ทักษะความสามารถแต่ยังเพียบพร้อมด้วยสภาพจิตใจยอดเยี่ยมที่ได้มาจากปารีส แซงต์-แยร์กแมง สำหรับซิเย็ค อาจไม่ได้เล่นมากนักในเชลซี แต่ฝีเท้าเขาระดับเวิลด์คลาส เหมือนกับริยาด มาห์เรซ ของอัลจีเรียที่นั่งเก้าอี้สำรองของแมนฯซิตีบ่อยครั้ง แต่เมื่อลงสนาม พวกเขาสามารถเปลี่ยนเกม

กูรูลูกหนังแอฟริกาสาวยังชี้ด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับโมร็อกโกเป็นผลลัพธ์ของการลงทุน ปัญหาใหญ่ของสหพันธ์ฯในแอฟริกาคือไม่เห็นความสำคัญของสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยอย่างสนามฝึกซ้อม โรงยิม อะคาเดมี และการศึกษาของโค้ช ความสำเร็จของโมร็อกโกมาจากการสร้างคอมเพล็กซ์ โมฮัมเหม็ดที่สี่ใน Maamoura ที่กินพื้นที่เกือบ 30 เฮกตาร์ มูลค่า 54 ล้านปอนด์ ใช้เวลาสร้างกว่าสามปี สถานที่แห่งนี้สามารถใช้กับนักกีฬาทีมชาติทุกระดับอายุ

คอมเพล็กซ์ทันสมัยช่วยให้นักเตะทีมชาติสัมผัสสิ่งที่คุ้นเคยเหมือนบ้าน โมร็อกโกเป็นประเทศหนึ่งที่นักเตะมากมายเกิดในยุโรป ผู้เล่นอย่างฮาคิมีกับซิเย็คมาจากเปแอสเชและเชลซี พวกเขาต้องการการฝึกซ้อมกับสิ่งที่คุ้นเคยแม้ไม่ดีกว่าแต่ก็ต้องคล้ายคลึง จึงเป็นความสำคัญที่โมร็อกโกลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เพราะมันส่งผลถึงสภาพจิตใจของนักเตะด้วย

ท้ายสุด โกมูกีชาเชื่อว่าโมร็อกโกได้เปรียบในการมาเตะบอลโลกที่กาตาร์ซึ่งเปรียบเสมือนบ้าน เนื่องจากโมร็อกโกเป็นชาติอาหรับ เคยแข่งขันอาหรับคัพที่นี่เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว แม้ใช้ผู้เล่นในประเทศยังเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ

นอกจากนี้มีคนโมร็อกโกมากมายพำนักอยู่ในกาตาร์ กษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่สี่แห่งโมร็อกโกทรงจัดสรรเครื่องบินสองลำและสนับสนุนค่าบัตรเข้าชมเพื่อให้แฟนบอลเดินทางมาดูการแข่งขันในสนาม หากใครเห็นบรรยากาศสนามที่โมร็อกโกลงแข่ง จะเหมือนทีมสิงโตแอตลาสเตะแมตช์เหย้า

โกมูกีชาฟันธงว่า ความคึกคักของการเชียร์ของแฟนบอลโมร็อกโกอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอาร์เจนตินาและเม็กซิโก ซึ่งมันส่งผลต่อฟอร์มการเล่นของนักเตะอย่างมาก แน่นอนรวมถึงเกมสำคัญกับสเปนที่กำลังจะเกิดขึ้น

เรียบเรียง: KMD Content Team

ภาพ: SKY Sporst ENGLAND

ที่มา: soccersuck

ความคิดเห็น

ความคิดเห็น

จำนวนคนดู:
X ปิด