ไม่รอด! คณะวินัยลงโทษแบน ‘เปาวุฒิพงศ์’ 2 เดือนปฏิเสธลูกยิงราชบุรี
คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ลงโทษ “วุฒิพงศ์ เกตุคำ” ผู้ตัดสิน พักการปฏิบัติหน้าที่ 2 เดือน หลังทำหน้าที่ผิดพลาดในเกม สุโขทัย-ราชบุรี
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาทฯ นำโดย นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ เป็นประธาน ได้พิจารณาเหตุการณ์ไม่ปกติของการแข่งขันฟุตบอล และเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขัน โดยมีผลการพิจารณาบทลงโทษ ประกอบด้วย เรื่องพิจารณาลงโทษสโมสร จำนวน 1 เรื่อง และ เรื่องพิจารณาการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขัน จำนวน 5 เรื่อง ตามรายละเอียด ดังนี้
1.การแข่งขันฟุตบอลรายการ “ไฮลักซ์ รีโว่ ไทยลีก” ไทยลีก 1 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2567 คู่ระหว่างสโมสรสุโขทัย เอฟซี พบ สโมสรราชบุรี เอฟซี (สโมสรราชบุรี เอฟซี ร้องเรียน)
– เหตุการณ์
ในนาทีที่ 90+4 ผู้เล่นหมายเลข 7 สโมสรราชบุรี เอฟซี ยิงเข้าประตูตีเสมอ จากจังหวะจ่ายบอลของผู้เล่นหมายเลข 11 สโมสรราชบุรี เอฟซี ซึ่งผู้ตัดสินอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 2 เมตร สามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจน โดยสโมสรราชบุรี เอฟซี เป็นฝ่ายครอบครองบอล ต่อหน้าผู้ตัดสิน ในจังหวะแรกไม่ได้เป่าฟาล์ว จนได้บอลมาตีเสมอ กลับเป่าตัดฟาล์ว ซึ่งส่งผลต่อการแข่งขันเป็นอย่างมาก พอเริ่มกลับมาแข่งขันต่อ ผู้ตัดสินกลับเป่าจบเวลาการแข่งขัน
– ผลการพิจารณา
ลงโทษนายวุฒิพงศ์ เกตุคำ ผู้ตัดสิน ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันฯ หมวดที่ 9 ลักษณะโทษข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 2 เดือน เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ที่เป่าฟาวล์และไม่ปฏิบัติตามหลักการของ VAR Protocol ส่งผลต่อการเป็นประตู และมีผลต่อการแข่งขัน
2.การแข่งขันฟุตบอลรายการ “ไฮลักซ์ รีโว่ ไทยลีก” ไทยลีก 1 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2567 คู่ระหว่างสโมสรลำพูน วอริเออร์ พบ สโมสรการท่าเรือ เอฟซี (สโมสรการท่าเรือ เอฟซี ร้องเรียน)
– เหตุการณ์
ในนาทีที่ 89 จังหวะที่ผู้เล่นหมายเลข 7 สโมสรลำพูน วอร์ริเออร์ ได้ยิงลูกบอลในเขตโทษ ซึ่งลูกบอลหลุดนอกกรอบ และผู้รักษาประตูหมายเลข 1 สโมสรการท่าเรือ เอฟซี ได้ออกมาสกัดบอลหลังการยิงของผู้เล่นสโมสรลำพูน วอริเออร์ ด้วยปฏิกิริยาที่ไม่มีเจตนาปะทะกับผู้เล่นของสโมสรลำพูน วอริเออร์ ซึ่งผู้ตัดสินได้พิจารณาจาก VAR และชี้เป็นจุดโทษ
– ผลการพิจารณา
นายอนุสรณ์ หนูแก้ว ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง เนื่องจากในจังหวะที่ผู้เล่นหมายเลข 7 สโมสรลำพูน วอริเออร์ ได้เตะลูกบอลออกไปก่อนทำให้ขาขวาของผู้รักษาประตูหมายเลข 1 สโมสรการท่าเรือ เอฟซี ที่ยกลอยสูงขึ้นไปปะทะกับขาของผู้เล่นหมายเลข 7 สโมสรลำพูน วอริเออร์ จนล้มลง ผู้ตัดสินให้เล่นต่อไป แต่เมื่อผู้ตัดสินตรวจสอบ VAR แล้วเห็นด้วยว่าผู้รักษาประตูหมายเลข 1 นายสมพร ยศ สโมสรการท่าเรือ เอฟซี มีการกระทำผิดกติกา จึงได้ตัดสินให้สโมสรลำพูน วอริเออร์ ได้เตะโทษ ณ จุดโทษ ถือว่าปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามหลักการของ VAR Protocol
3.การแข่งขันฟุตบอลรายการ “ไฮลักซ์ รีโว่ ไทยลีก” ไทยลีก 1 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 คู่ระหว่างสโมสรพีที ประจวบ เอฟซี พบ สโมสรตราด เอฟซี (สโมสรพีที ประจวบ เอฟซี ร้องเรียน)
– เหตุการณ์
ในนาทีที่ 17 ผู้เล่นหมายเลข 25 สโมสรพีที ประจวบ เอฟซี ได้มีจังหวะปะทะกับผู้เล่นของสโมสรตราด เอฟซี ซึ่ง ผู้ตัดสิน ได้พิจารณาให้ใบแดงกับผู้เล่นหมายเลข 25 สโมสรพีที ประจวบ เอฟซี นั้น ทางสโมสรมองว่าการกระทำผิดกติกาที่เป็นใบแดงของผู้เล่นคนดังกล่าวควรจะเป็นลักษณะ Serious foul play เนื่องจากแขนที่กางออกไปนั้น เกิดขึ้นขณะที่ผู้เล่นพยายามเข้าไปแย่งชิงลูกบอลกับฝ่ายตรงข้าม แต่ผู้เล่นทำผิดพลาดโดยการใช้แขนที่ผิดกติกาและเป็นอันตรายแก่คู่ต่อสู้เท่านั้น มิได้มีเจตนาทำร้าย หรือมุ่งทำร้ายคู่ต่อสู้ขณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเล่น
– ผลการพิจารณา
นายอาคม เจริญสุข ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง เนื่องจากผู้เล่นหมายเลข 25 นายปวีร์ ตัณฑะเตมีย์ สโมสรพีที ประจวบ เอฟซี มีเจตนาใช้ศอกกระแทกไปที่กกหูฝ่ายตรงข้ามด้วยความรุนแรงโดยไม่มีเจตนาเล่นลูกบอล เป็นการเจตนาทำร้ายฝ่ายตรงข้าม เป็นความผิดที่ต้องให้เตะโทษโดยตรง (Violent Conduct)
4.การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการ “รายการปุ๋ยรุ่งอรุณ ลีก” ไทยลีก 3 วันที่ 6 เมษายน 2567 คู่ระหว่างสโมสรบ้านค่าย ยูไนเต็ด พบ สโมสรมหาสารคาม เอสบีที เอฟซี
– เหตุการณ์
1) ก่อนการแข่งขัน กองเชียร์ของสโมสรมหาสารคาม เอสบีที เอฟซี จุดพลุแฟร์อยู่บนรถกระบะที่ขับเข้ามาในพื้นที่จัดการแข่งขัน ซึ่งเป็นถนนที่จะเข้าไปยังพื้นที่ฝั่งที่นั่งกองเชียร์ทีมเยือน โดยบริเวณที่จุดพลุแฟร์อยู่ใกล้ ๆ บริเวณรูปปั้นพระเจ้าตาก อยู่ห่างจากสนามแข่งขันเป็นระยะประมาณ 50 เมตร
2) ก่อนเริ่มการแข่งขัน เวลา 16.50 น. ได้มีกองเชียร์ของสโมสรมหาสารคาม เอสบีที เอฟซี จุดพลุแฟร์ที่บริเวณหลังอัฒจันทร์ที่นั่งกองเชียร์ทีมเยือน โดยสังเกตได้จากเสื้อที่ใส่ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากจุดที่ผู้ควบคุมการแข่งขันยืนอยู่ เมื่อผู้ควบคุมการแข่งขันเห็นจึงได้แจ้งโฆษกสนามให้ประกาศแจ้งเตือนให้หยุดจุด และได้สั่งให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้าไประงับเหตุการณ์ดังกล่าว จนพลุแฟร์ที่จุดขึ้นได้สงบลง ระยะเวลาจากที่จุดถึงตอนที่สงบลงใช้เวลาประมาณ 3 นาที
3) หลังจบการแข่งขันไปแล้ว ประมาณ 10 -15 นาที กองเชียร์ของสโมสรมหาสารคาม เอสบีที เอฟซี ได้มีการจุดพลุแฟร์ขึ้นอีกครั้ง บริเวณหลังอัฒจันทร์ที่นั่งของกองเชียร์ทีมเยือน ผู้ควบคุมการแข่งขันเห็นพลุแฟร์และควันอยู่บริเวณหลังอัฒจันทร์ที่นั่งกองเชียร์ทีมเยือน สักพักได้มีรถตำรวจสายตรวจเข้ามาในพื้นที่เพื่อระงับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (ได้รับแจ้งว่าทางทีมงาน อปพร. และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยังคงอยู่ในสนามได้วิทยุสื่อสารให้มาในพื้นที่) ใช้เวลาประมาณ 5 -10 นาที กลุ่มควันและพลุแฟร์จึงสงบลง
– ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษกองเชียร์สโมสรมหาสารคาม เอสบีที เอฟซี มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 4.3 ปรับเงิน 30,000 บาท เหตุการณ์จุดพลุครั้งที่ 2 ปรับเงิน 40,000 บาท (เนื่องจากปล่อยปะละเลยให้กองเชียร์จุดเป็นครั้งที่ 2) และ เหตุการณ์จุดพลุครั้งที่ 3 ปรับเงิน 60,000 บาท (เนื่องจากไม่มีความยำเกรง ปล่อยให้กระทำผิดซ้ำซาก)
รวมโทษปรับเงินทั้ง 3 เหตุการณ์ เป็นจำนวน 130,000 บาท แต่เป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 จึงลงโทษปรับหนึ่งในสี่ ปรับเงิน 32,500 บาท โดยการกระทำทั้ง 3 ครั้ง เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ เป็นการจุดพลุในสถานที่จัดการแข่งขันปรากฏภาพเหตุการณ์ชัดเจน และเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมในสถานที่จัดการแข่งขัน
5.การแข่งขันฟุตบอลรายการ “ปุ๋ยรุ่งอรุณ ลีก” ไทยลีก 3 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2567 คู่ระหว่างสโมสรมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ พบ สโมสรอ่างทอง เอฟซี (สโมสรมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ร้องเรียน)
– เหตุการณ์
ในนาทีที่ 47 ผู้เล่นหมายเลข 13 สโมสรอ่างทอง เอฟซี มีจังหวะลากบอลเพื่อไปทำประตู แต่ในจังหวะนั้นผู้เล่นหมายเลข 21 สโมสรมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ พยายามสไลด์เข้าสกัดบอล แต่ในจังหวะนี้ขาของผู้เล่นหมายเลข 21 สโมสรมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ไปขัดกับขาซ้ายของผู้เล่นหมายเลข 13 สโมสรอ่างทอง เอฟซี ซึ่งจุดที่มีการทำฟาล์วของผู้เล่นหมายเลข 21 สโมสรมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ จากภาพและคลิปประกอบอยู่ในตำแหน่งนอกกรอบเขตโทษชัดเจน ซึ่งลูกฟาล์วในจังหวะนี้ควรเป็นการทำฟาล์วนอกเขตโทษ แต่ผู้ตัดสิน พิจารณาจังหวะนี้เป็นการทำฟาล์วในกรอบเขตโทษและตัดสินให้สโมสรอ่างทอง เอฟซี ได้ลูกจุดโทษ
– ผลการพิจารณา
ลงโทษนายชิษณุพงค์ เกตุเสนา ผู้ตัดสิน ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันฯ หมวดที่ 9 ลักษณะโทษข้อ 57 (3) พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 เดือน เนื่องจากเป่าให้จุดโทษ ทั้งที่กระทำผิดนอกเขตโทษและไม่มีผลต่อการแข่งขัน
6.การแข่งขันฟุตบอลรายการไทยลีก 2 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2567 คู่ระหว่างสโมสรพัทยา ยูไนเต็ด พบ สโมสรชัยนาท ฮอร์นบิล (สโมสรชัยนาท ฮอร์นบิล ประท้วง)
– เหตุการณ์
ในนาทีที่ 75 ผู้ตัดสินได้เป่าฟาล์วพร้อมกับคาดโทษใบเหลืองผู้เล่นหมายเลข 2 นายภูวดล ชนกกวินกุล สโมสรพัทยา ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นใบเหลืองที่สอง แต่ไม่ได้รับใบแดงไล่ออกจากสนาม และสโมสรพัทยา ยูไนเต็ด ได้ทำการเปลี่ยนตัวนายภูวดล ชนกกวินกุล ในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้สโมสรพัทยา ยูไนเต็ด ไม่ถูกลดจำนวนผู้เล่นให้เหลือ 10 คน ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่จนจบการแข่งขัน
– ผลการพิจารณา
ลงโทษ นายจรินทร์ ยาวาปี ผู้ตัดสิน ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันฯ หมวดที่ 9 ลักษณะโทษข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 3 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นกรณีใบเหลืองที่สอง แต่ไม่ให้และอาจมีผลต่อการแข่งขัน
ในส่วนของการประท้วงคุณสมบัติผู้เล่นของสโมสรพัทยา ยูไนเต็ด จากการสอบสวนกรณีดังกล่าวพบว่าผู้ตัดสินได้ยืนยันการให้ใบเหลืองกับทีมงานผู้ตัดสินทางวิทยุสื่อสารทันที ว่าแจกใบเหลืองให้กับผู้เล่นหมายเลข 5 ของสโมสรพัทยา ยูไนเต็ด จึงไม่ถือเป็นการให้ใบเหลืองผิดคน แต่เป็นการวินิจฉัยผิดพลาดของผู้ตัดสินเอง ที่ไม่ได้ให้ใบเหลืองกับผู้เล่นหมายเลข 2 นายภูวดล ชนกกวินกุล สโมสรพัทยา ยูไนเต็ด ตามฐานความผิดของผู้ตัดสินที่มีการลงโทษในข้างต้น
หมายเหตุ : การพิจารณาลงโทษการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขัน ในทุกกรณี เมื่อสิ้นสุดฤดูกาลแข่งขันประจำปีแล้ว หากเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขัน ถูกลงโทษจากคณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท หรือสมาคมแต่งตั้ง และยังมีโทษติดค้างอยู่ ให้มีผลผูกพันถึงในฤดูกาลถัดไป โดยให้เป็นไปตามปฏิทินการแข่งขันประจำปีของสมาคมฯ
ที่มา: soccersuck