เป๊ป และ ซิตี้ ตอกย้ำเบอร์ 1 โลก

ไม่สายเกินไปใช่ไหมครับที่จะกล่าวยินดีกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ เป๊ป กวาดิโอล่า กับการก้าวขึ้นเป็นตำนานหลังเอาชนะ อินเตอร์ มิลาน คว้า “เทรปเปิ้ลแชมป์” อย่างยิ่งใหญ่

เป็นเทรปเปิ้ลแรกในรอบ 24 ปีของตัวแทนจากทีม อังกฤษ​นับตั้งแต่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เคยทำไว้กับ แมนฯยูฯ เมื่อปี 1999

“เรือใบ” สถาปนาตัวเองเป็นทีมที่ 8 ในยุโรปที่คว้าเทรปเปิ้ลแชมป์ (ลีกในประเทศ, บอลถ้วยใหญ่ในประเทศและ UCL)

ต่อกจากรุ่นเดอะอย่าง เซลติก (1967), อาแย็กซ์ (1972), พีเอสวี (1988), แมนฯยูฯ (1999), บาร์เซโลน่า (2009), อินเตอร์ มิลาน (2010), บาเยิร์น (2013), บาร์เซโลน่า (รอบ 2, 2015), บาเยิร์น (รอบ 2, 2020)

ถ้า “เรือใบ” เปรียบดังหญิงสาวสวยๆซักคนที่เดินไปไหนมีแต่หนุ่มแอบมองแน่นอนครับการได้เจ้าโทรฟีย์หูกางไม่ต่างอะไรกับหญิงคนนั้นได้ “มงกุฏ” จากการเข้าประกวดนางงาม

เป็นการยืนยันว่า “สวยจริง” และเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการ….ซึ่งมันสง่างามกว่าคำชมลอยๆว่า “สวย”

ชัยชนะเหนือ “งูใหญ่” อาจไม่ใช่ฟอร์มที่ดีที่สุดของพลพรรค “เรือใบ” ซึ่งกล่าวได้ว่านักเตะจู่ๆเกร็งไปเองซะอย่างนั้น

ในความเกร็งที่ว่านั้นผมกลับมองว่ามันมาจากวิธีการเล่นอย่าง “ตึง” จากฝั่ง อินเตอร์ ที่ใช้ตำรา underdog เหมือนหลายๆทีม

กล่าวคือมีทั้งลูกหนักและเข้าเร็วจนนักเตะ “ซิตี้” เริ่มแหยงและเล่นไม่ออก

ทั้งนี้ทั้งนั้นผมยังขอชม “ทางบอล” ของผู้เล่น อินเตอร์ โดยเฉพาะแนวรับที่ทำการบ้านมาเป็นอย่างดีว่าคุณลักษณะวิธีการเล่นของผู้เล่นฝั่งตรงข้ามมาอย่างดี

สัญญาณที่ไม่ค่อยดีหรืออาจจะบอกว่าเป็นลางร้ายของ ซิตี้ คือ เควิน เดอ บรอยน์ เจ็บตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรก

ภาพแรกที่ลอยเข้ามาในหัวคือรอบชิงที่แพ้ เชลซี เมื่อ 2 ปีก่อน KDB ใต้ตาปูดจากการปะทะกับ รูดิเกอร์

น่าเสียดายตรงที่ก่อน KDB จะเจ็บ “เรือใบ” เครื่องกำลังติดทั้งนวดและพาบอลขึ้นมาถึงพื้นที่สุดท้ายของ อินเตอร์ ได้มากที่สุดอีกต่างหาก

จะว่าไปแล้วเกมนี้น่าจะดราม่าเพิ่มดีกรีความมันหาก เลาตาโร่ มีน้ำใจซักนิดในจังหวะหาดูยากที่ ซิตี้ พลาดมหันต์ปล่อยให้ลูกคืนหลังธรรมดาเป็นการหลุดเดี่ยวของฝั่ง อินเตอร์

ในขณะที่ ฮาลันด์ ที่วูบวาบตอนต้นครึ่งแรกและถูกลักพาตัว (ซึ่งเป็นเรื่องปกติ) หลัง KDB ถูกเปลี่ยนออกประตูโทนและเป็นประตูตัดสินชัยในเกมนี้เป็นความบกพร่องหนเดียวของ อินเตอร์ ที่ต้องบอกว่าชอกช้ำระกำใจสุดๆ

จังหวะดังกล่าวเป็นการขึงเกมหน้าเขตโทษของ อินเตอร์ ซึ่งคนครองบอลเป็น อาคานยี่ ผู้เล่นในตำแหน่งกองหลังแทนที่จะเป็นเพลย์เมคเกอร์คนอื่นๆ

นั่นหมายความว่า ซิตี้ มีตัวรุกในเขตโทษและตามจุดต่างๆแทบจะเยอะไม่แพ้ของฝั่งงูใหญ่เลย

ณ จังหวะนั้นในเขตโทษมีถึง 3 ริมกรอบเขตโทษอีก 2 หน้าเขตโทษอีก 4 (รวมอาคานยี่)

สถานการณ์ที่ว่านี้ทำให้ อเลสซานโดร บาสโตนี่ 1 ใน 3 เซนเตอร์เห็นเพื่อนกองกลางไม่มีใครเข้าไป “ตั้น” จนต้องทิ้งตำแหน่งตัวเองปรี่เข้ามาหา อาคานยี่

เสี้ยววินาทีที่ดันขึ้นมาคือหายนะที่ส่งผลถึงชวดแชมป์ทันที

มันทำให้ แบร์นาโด้ ว่างและวิ่งสอดบอลแทงทะลุ ที่เหลือเป็นความสุดยอดของ โรดรี้ ที่ยิงแบบหมดจดเบียดตัว 2 แนวรับหลบสายตา โอนาน่า ดูกี่ครั้งก็งดงามเหลือเกิน

หลังมีประตูเกิดขึ้นไม่ใชว่า “งูใหญ่” จะไม่มีโอกาสนะครับ การแก้เกมของ ซิโมเน่ อินซากี้ ทำให้ เอแดร์ซอน ต้องช่วยชีวิต ซิตี้ จากการเซฟอุตลุดในช่วงท้ายเกม

แต่ผิดตรงที่ โรเมลู ลูกากู ไม่ใช่กองหน้าประเภทยิงประตูสั่งตายแต่ออกแนวสร้าง content มากกว่าไม่ว่าจะไปยืนขวางเพื่อนช่วยบล็อกบนเส้นหรือประตูโล่งๆแต่เลือกโขกเผาขนไปตรงตัว เอแดร์ซอน ซะอย่างงั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ของ ลูกากู ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ละช็อตฮาๆของพรี่เขาหาดูได้ตามยูทูปโดยที่ยังตาตรึงคือบอลโลกปลายปีที่แล้วที่เจ้าตัวพลาดโอกาสแบบโคตรนะหน้าทอง 3-4 หนจน เบลเยียม ร่วงบอลโลกนั่นแหละครับ

แม้ อิสตัลบูล 2023 ไม่พีตถึงขั้นดราม่าเหมือนในปี 2005 แต่ที่เหมือนกันคือ อิตาลี พ่าย อังกฤษ และที่สำคัญไปกว่านั้นคือการลบคำสาปและเริ่มนับ 1 ของ แมนฯซิตี้ ในถ้วย UCL ได้ซักที

ว่ากันว่านี่เป็นการเข้ามาดูเกมที่สนามของท่าน ชีค มานซัวร์ เจ้าของสโมสรหนแรกในรอบ 13 ปีและได้ร่วมเป็นสักขีพยานกับสิ่งที่ลงเงินลงแรงไปซักที

นอกจากจะเป็นการคว้าเทรปเปิ้ลแชมป์คนที่ 2 ในเกาะอังกฤษต่อจากท่านเซอร์ เฟอร์กี้ เมื่อปี 1999 นี่เป็นแชมป์ในเวทียุโรปครั้งแรกของ “เรือใบ” นับตั้งแต่ได้คัพ วินเนอร์ส คัพ เมื่อปี 1970

เป็นแชมป์รายการที่ 17 ของ ซิตี้ นับตั้งแต่มีการเทคโอเวอร์เมื่อปี 2008 โดยเป็นของ เป๊ป ล้วนๆ 12 รายการนับตั้งแต่ก้าวเข้ามาเป็นครอบครัว “เดอะ ซิติเซนส์” เมื่อปี 2016

และ…และ…และทำให้ เป๊ป ก้าวขึ้นเป็นผู้จัดการทีมคนแรกและคนเดียวของโลกที่คว้า “เทรปเปิ้ลแชมป์” 2 หนหลังเคยทำได้กับ บาร์เซโลน่า เมื่อปี 2009 มาแล้ว

ผมไม่ขอเปรียบเทียบว่าใครยิ่งใหญ่กว่ากันระหว่าง เป๊ป กับ เซอร์ 2 ผู้นำที่มาจาก 2 ยุค 2 สมัย บั้นปลายท้ายที่สุดแล้วทั้งคู่ได้บรรลุในสิ่งที่อาจจะเรียกว่ายากที่สุดและเป็นฝันสูงสุดของผู้จัดการทีมในโลกฟุตบอล

คุณจะเถียงกันให้ตายเหมือน มาราโดน่า vs เปเล่ หรือ โรนัลโด้ vs เมสซี่ ก็เอาที่สบายใจ

แต่กลุ่มคนเหล่านี้จะถูกกล่าวขานในทุกๆแง่มุมของอุตสาหกรรมลูกหนังจาก “คนหมู่มาก” และปล่อยให้การเปรียบเทียบใครเหนือกว่าใครเป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆไม่กี่คนเท่านั้น

ครับซิตี้ ณ วันนี้ศัลยกรรมจนไม่เหลือเค้าเดิมอีกแล้ว ถ้ายังจำกันได้ปี 2008 ที่มีการเทคโอเวอร์ พวกเขาปิดฤดูกาล 2007-08 ด้วยการบุกไปแพ้ มิดเดิลสโบรช์ ถึง 8-1!!!

ก่อนเข้าสู่ยุคใหม่ด้วยการประเดิมคว้า โรบินโญ่ มาจาก เรอัล มาดริด ด้วยค่าตัวเขย่าโลก (ณ ตอนนั้น) 32 ล้านปอนด์

ผมเชื่อว่าข้อครหาในตัว เป๊ป ที่มักถูกนำมาดิสเครดิตยามประสบความสำเร็จคืออยู่แต่กับทีมที่มีเงินให้ใช้ ควรพิสูจน์กับทีมที่มีงบจำกัดบ้าง บลาบลา น่าจะ out ได้แล้วครับ

การฉีกเทรนด์ฟุตบอลดั่งผู้นำทางแฟชั่น การปลุกผีนักเตะดาดๆขึ้นมาเทียบชั้นระดับโลกล้วนแล้วแต่มาจากมันสมองและฝีมือของ เป๊ป ทั้งนั้น

ไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วคุณจะเสกสิ่งต่างๆให้เหมือนที่ เป๊ป ทำได้ทุกคนนะครับ ตัวอย่างมีให้เห็นอย่างเสี่ยท็อดด์เป็นต้น

และในมุมกลับกันทำไมเราไม่มองว่า เป๊ป ต่างหากที่ฉลาดเลือก ฝีมือมีอยู่แล้วเหตุใดต้องเลือกท่ายากให้ชีวิตตัวเองไปลำบากเพื่อ

ที่น่าติดตามหลังจากนี้คือ ambition ของซุ้ม “เรือใบ” ทั้งผู้นำและลูกทีมจะเป็นอย่างไรหลังสโมสรประสบความสำเร็จที่เรียกได้ว่าอันล็อคทุกๆเป้าหมายไปหมดแล้ว

ผมขอหยุดไว้แค่นี้ละกันครับเพราะบรรยากาศความ “หอม” มันควรจะเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองของแฟนบอล “ซิตี้” มากกว่าฉีกประเด็นจนเกินเลย

ต้นบทความได้แสดงความยินดีกับ ซิตี้ ไปแล้ว

ทิ้งท้ายตรงนี้ไม่มีอะไรจะกล่าวมากไปกว่าสดุดีทีม “ต่างดาว” แมนฯซิตี้ ยอดทีมเบอร์ 1 ของโลกอย่างเป็นทางการรูดม่านฤดูกาล 2023 อย่างสมบูรณ์แบบครับ..

ที่มา: soccersuck

ความคิดเห็น

ความคิดเห็น

จำนวนคนดู: